วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วัดนาหลวง

วัดนาหลวง

วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม) หรือวัดภูย่าอู่ ตั้งอยู่ที่ บ้านนาหลวง หมู่ที่ 5 ตำบลคำด้วง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นวัดอบรมวิปัสสนากรรมฐานของจังหวัดอุดรธานีซึงหลังจากออกพรรษาแล้ว ก็จะมีหน่วยงานราฃการ องค์และกลุ่มต่างๆ รวมทั้งนักเรียนนิสิตนักศึกษา ที่สนใจในการปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐานเข้ามาขอเข้ารับการอบรม เพื่อเรียนรู้และเข้าถึงหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาตลอดจนการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสงบสว่างในจิตใจเกิดความสุขสงบ มีสติสัมปชัญญะซึ่งหลวงปู่พระราชสิทธาจารย์ประธานสงฆ์ ให้เมตตาต่อผู้เข้ารับการอบรมและฝึกปฏิบัติ มีพระครูภาวนาธรรมาภินันทเป็นเจ้าอาวาส  โดยมีพระราชสิทธาจารย์ (หลวงพ่อทองใบ ปภัสสโร) พระสุปฏิปันโนอีกรูปหนึ่งเป็นประธานสงฆ์ และตลอดเวลาที่ เข้ารับการอบรม จะมีพระครู และพระพี่เลี้ยงค่อยให้คำแนะนำและเอาใจใส่ด้วยความเมตตา ปัจจุบันมีภิกษุอยู่จำพรรษา 111 รูป เณร 1 รูป

ดูแผนที่เส้นทางไปวัด คลิ๊กที่นี่










การเดินทาง วัดนาหลวงอยู่ห่างจาก จังหวัดอุดรธานี 102กิโลเมตรระยะทาง จากอุดรธานีถึงอำเภอบ้านผือ 52กิโลเมตร จากอำเภอบ้านผือ ถึงตำบล คำด้วง 23 กิโลเมตรจากตำบลคำด้วง ถึง วัดนาหลวง 27 กิโลเมตร (เป็นทางลูกรัง และเป็นทางขึเนเนินเขาบางตอน) สามารถไปมาได้โดยสะดวก
กิจกรรมระหว่างเข้าพรรษา ทางวัดจะไม่รับจัดกิจกรรมอบรม เนื่องจากพระภิกษุ ต้องปฏิบัติภารกิจระหส่างจำพรรษา และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยตื่นทำวัดเช้า เวลา 04.00 น. และปฏิบัติกิจจน 06.00 น. และอาจมีการประขุม จากนั้นเตรียมตักบาตร เวลา 09.30น. เวลา 16.00 น. ลงทำวัดเย็น และปฏิบัติธรรม จนถึงเวลา 20.00 น. และช่วงเดือนสุดท้านก่อนออกพรรษา การปฏิบัติของพระภิกษุก็จะเข้มข่นขึ้น โดย จะเริ่มทำวัดเช้าเวลา 03.30 น. และทำวัดเย็ยก็จะเริ่มเวลาเดิม และสิ้นสุด เวลา 22.00น. รวมทั้งมีการจัดให้พระสงฆ์อยู่ปริวาสกรรมปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข่น ทำให้การปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ของวัดนาหลวงเป็นที่น่าเลื่อมใสและศรัทธาของประชาชนที่ได้พบเห็นและมีโอกาสได้เข้าไปทำบุญที่วัด
และทุกวันพระที่2 ของทุกเดือนหลวงปู่พระภาวงนาวิสุทธาจารย์ จะแสดงธรรมเทศสนาโปรดญาติโยม ที่เข้ามาทำบุญ และทุกวัน หลวงปู่จะเปิดโอกาสให้ญาติโยมไม่เข้าพบปะและสนทนาธรรม ระหว่างเวลา 12.00- 13.00 น ที่กุฎิประธานสงฆ์บริเวณ ลายไทรคู่ เป็นที่น่าเสียดาย ว่าไทรใหญ่ต้นหนื่ง ที่อยู่ด้านหน้าพระประธาน ได้หักล้มลง เมื่อคินวันที่ 25กันยายน 2549 จึงทำให้ในปัจจุบันคงเหลือต้นไทรในบริเวณลานไทรคู่เพียงต้นเดียว นี่เป็นสัจจะธรรม ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง หลวงปู่บอกว่าไทรต้นนี้อายุประมาณ 420 ปีในโอกาสนี้ก็ขอนำภาพบรรยาการในกิจกรรมต่างๆของทางวัดมานำเสนอให้ท่านเพื่อประกอบการพิจารณาเพื่อตั้ดสิ้นใจเข้าวัดทำบุญ ศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรม
 
  ความเป็นมาวัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)

    วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)  ตั้งอยู่บนยอดเขาภูย่าใกล้หมู่บ้านนาหลวง  อยู่ในเขตตำบลคำด้วง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  ห่างจากตัวอำเภอบ้านผือไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ  46  กิโลเมตร  ความเป็นมาเกี่ยวกับการตั้งวัดมีว่า  เมื่อปี พ.ศ. 2529  พระราชสิทธาจารย์  (หลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร)  เป็นพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้ปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์  มีความเข้าใจและซาบซึ้งในพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างยิ่ง  อยู่มาวันหนึ่งได้ทำความเพียรอย่างยอดยิ่งได้เข้าสมาบัติอยู่จนล่วงเข้า ปัจฉิมยาม (เวลาโดยประมาณ  03.00 น.) เมื่อออกจากสมาบัติได้นิมิตเห็นหมู่เทพธิดา 4 ตน  แต่งกายสวยงามสะอาดเรียบร้อยด้วยเสื้อสีขาว  ผ้าถุงสีน้ำเงิน  มือถือดอกฮวงสุ่ม (ดอกไม้ป่าเรียกชื่อและออกเสียงตามภาษาและสำเนียงท้องถิ่นอีสาน)  ในมโนทวาร  หลวงพ่อได้ทำความรู้สึกแผ่เมตตาสาราณียธาตุกว้างไกลโดยไม่มีประมาณ  หลังจากนั้นความรู้สึกกระแสจิตสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับเหล่าเทพธิดา ได้  และรับรู้ว่าเทพธิดาเหล่านั้นต้องการให้ท่านเดินทางไปบำเพ็ญเพียรสร้างพลัง ธรรมโปรดสรรพสัตว์ที่  ภูย่าอู่  ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกมีสัญลักษณ์สำคัญคือต้นไทรคู่  พระราชสิทธาจารย์  ตกลงใจว่าจะปฏิบัติตามคำขอร้องนั้นก่อนจากไปเทพธิดาตนหนึ่งได้กล่าวกับท่าน ว่า “จากนี้ไปอย่าไปเข้าถ้ำอีก”  พูดจบแล้วได้เอาดอกฮวงสุ่มปิดปากถ้ำไว้  ฝ่ายเทพธิดาตนที่เป็นหัวหน้าได้กล่าวกับท่าน  ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะว่า “จงไปโปรดสัตว์เถิด”
    ต่อมาหลวงพ่อ  จึงปรารถนาที่จะเผยแผ่ให้พุทธศาสนิกชนได้ซาบซึ้งในธรรมรสนั้น  ทั้งยังปรารถนาที่จะยังสันติธรรมให้เกิดมีแก่สังคมโลก  จึงออกแสวงหาที่สับปายะ  ในที่สุดได้ค้นพบภูย่าอู่  ต้นไทรคู่ตามนิมิต  ตรงจุดที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า “ถ้ำเกิ้ง”  อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำโสมนายูง  บ้านนาหลวง  ตำบลคำด้วง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  เมื่อพิจารณาสภาพทางภูมิศาสตร์เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมกับการที่จะบำเพ็ญ บารมีธรรมปฏิบัติธรรมให้เจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป  ทั้งยังเป็นสถานที่ที่เห็นเป็นชัยภูมิเหมาะที่จะก่อตั้งเป็นวัดถาวรต่อไปใน อนาคตจึงตัดสินใจเลือกสถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งวัดแต่นั้นมา
    ต่อมาเมื่อวันที่  9  มกราคม  2529  โดยการนำของหลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร  พร้อมด้วยพระภิกษุอีก  5  รูป  สามเณร  2  รูป  ได้เลือกปักกลดใต้ร่มไทรคู่บนภูย่าอู่  มีศรัทธาสาธุชนชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงพร้อมทั้งโยมอุปัฏฐากได้ร่วมแรงร่วม ใจกันสร้างกุฏิชั่วคราวขื้นเพื่ออำนวยความสะดวกตามอัตภาพ
    หลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร  เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย  มีจริยวัตรงดงามสม่ำเสมอเหมาะสมแก่สมณสารูป  มีความแน่วแน่มุ่งมั่นเสียสละเผยแผ่เมตตาธรรมต่อมหาชนไม่มีประมาณ   ทำให้มีศิษย์เลื่อมใสศรัทธาเพิ่มมากขื้นอย่างกว้างขวาง  บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมใจกันบริจาคทุนทรัพย์จัดสร้างเสนาสนะเครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็นภายในวัดขึ้น  แต่สถานภาพยังคงเป็นสำนักปฏิบัติธรรม  แม้กระนั้นในแต่ละปีมีพระภิกษุเข้าอยู่จำพรรษากว่าร้อยรูป  ซึ่งล้วนมีความเคร่งครัดพากเพียรทั้งด้านสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน  หลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร  ได้ตั้งชื่อสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ว่า  วัดอภิญญาเทสิตธรรม  และเนื่องจากตั้งอยู่บนภูย่าอู่คนทั่วไปจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  วัดภูย่าอู่  เป็นชื่อที่ผู้คนทั่วไปเรียกกันติดปากเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
    เมื่อวันที่  16  มิถุนายน  2543  กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศแต่งตั้งให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์ มีชื่อว่า “วัดนาหลวง”
    ปัจจุบันสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี  ได้ประกาศแต่งตั้งวัดนาหลวง  ให้เป็นสำนักวิปัสสนาธุระประจำจังหวัดอุดรธานี  โดยมีพระครูประภัสสรสุทธิคุณเป็นเจ้าสำนัก  ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมให้แก่พระสงฆ์  นักเรียน  นักศึกษา  และประชาชนในเขตจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงให้ได้รับประโยชน์ตน  ประโยชน์ผู้อื่น  และประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อเกื้อกูลการธำรงส่งเสริมสืบทอดคำสอนของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป  ประกาศ  ณ  วันที่  1  มกราคม  2544  เป็นต้นมา  ผลงานของวัดที่ดำเนินการมาได้สนองเจตนารมณ์ตามประกาศได้ผลเป็นอย่างดี  ทั้งนี้มีบุคคลสำคัญที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ  คือ  พระอธิการ  บุญทัน  อัคคธัมโม  ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส  พระมหาสำรี  ธัมมจาโร  เป็นรองเจ้าอาวาส  ภายใต้การอำนวยการเป็นประธานสงฆ์  คือ  พระราชสิทธาจารย์  หรืออดีตพระครูประภัสสรสุทธิคุณ
    วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)  ตั้งอยู่บนยอดเขาภูย่าอู่  ซึ่งเป็นภูเขาลูกหนึ่งในกลุ่มเทือกเขาภูพานอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำ โสมนายูง  อยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านผือไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ  46  กิโลเมตร  ห่างจากหมู่บ้านนาหลวงประมาณ  5  กิโลเมตร บริเวณที่ปลูกสร้างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในศาสนกิจและที่พำนักอาศัยของพระภิกษุสงฆ์  สามเณร  แม่ชี  ตลอดจนสถานที่ที่ใช้ในการอบรมพุทธศาสนิกชน  ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและต้องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานถือศีลบำเพ็ญ ภาวนามีประมาณ  15  ไร่  สำนักงานป่าไม้จังหวัดอุดรธานี  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ทางวัดช่วยดูแลป่าอุทยานแห่งชาติที่อยู่ ล้อมรอบมีเนื้อที่ทั้งหมดโดยประมาณ  25,000  ไร่  ทั้งนี้เพื่อเป็นการอาศัยบารมีหลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร  ประธานสงฆ์แห่งวัด  ช่วยป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำลำธารให้คง สภาพอุดมสมบูรณ์เสมอไป  ลักษณะของป่าไม้บนภูเขาแห่งนี้มีทั้งส่วนที่เป็นป่าเดิมและป่าใหม่ที่ปลูก ขึ้นทดแทนได้รับการดูแลรักษาอย่างดี  เป็นแบบอย่างในการรักษาระบบนิเวศสร้างความสมดุลให้ธรรมชาติ

อาณาเขตติดต่อของวัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)
ทิศเหนือ        ติดต่อกับ    บ้านตาดน้ำพุ    อำเภอบ้านผือ     จังหวัดอุดรธานี
ทิศใต้        ติดต่อกับ    บ้านสระคลอง    อำเภอบ้านผือ     จังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันตก    ติดต่อกับ    บ้านสว่างปากราง    อำเภอนายูง     จังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันออก    ติดต่อกับ    บ้านนาหลวง    อำเภอบ้านผือ     จังหวัดอุดรธานี
 
 
 
 
 ประวัติพระราชสิทธาจารย์ (หลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร)
ประธานสงฆ์วัดนาหลวง

    พระราชสิทธาจารย์ (หลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร)  ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่เป็นองค์ประธานสงฆ์ของวัดนาหลวง  ท่านเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งวัดเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าจนมีศิษยานุศิษย์มากมาย  มีความสามารถพิเศษในเชิงวาทศิลป์  การแสดงธรรมทุกครั้งจึงมีผู้เข้าร่วมรับฟังอย่างล้นหลาม  ด้วยนิสัยและบุคลิกลักษณะที่สมถะสันโดษต้องการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย   ไม่ปรารถนาตำแหน่งฐานะที่สำคัญใด  ๆ  ท่านจึงขอเป็นประธานสงฆ์คอยให้คำปรึกษาในการบริหารงานในวัด  ประวัติของท่านมีโดยสังเขปดังนี้
ชาติภูมิ  พระราชสิทธาจารย์ เกิดเมื่อวันที่  6  ตุลาคม  พ.ศ. 2479  เดิมชื่อ  ทองใบ  แน่นอุดร เป็นบุตรคนที่  5  ในจำนวน  8  คน ซึ่งเป็นชาย 6 คน หญิง 2 คน  ของนายบุญ  แน่นอุดร  มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านโนน  ตำบลป่าฝา  อำเภอจังหาร  จังหวัดร้อยเอ็ด  และนางศรี  ชินามน  มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านนามน  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์    เมื่อเยาว์วัยมีจิตใจใฝ่ในทางธรรมรบเร้าบิดามารดาว่าอยากไปอยู่วัดตั้งแต่ อายุ  4  ขวบ  แต่บิดามารดาเห็นว่ายังเด็กเกินไปจึงรอไว้ก่อน  จนอายุ  7  ขวบ เป็นเวลาที่ต้องเข้าเรียนหนังสือจึงได้ไปอยู่วัดพร้อมกับเรียนหนังสือจนจบ การศึกษาภาคบังคับคือชั้นประถมศึกษาปีที่  4
    บรรพชาอุปสมบท  ในปี พ.ศ. 2499  ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดนามน  บ้านนามน อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์  ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโยมมารดา  ชีวิตการเป็นพระภิกษุท่านได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรม  ตรี  โท  เอก  จากสำนักเรียนวัดสะแคนนามน  กิ่งอำเภอนามน  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์  ประสบการณ์ที่ท่านได้มีโอกาสพบเห็นคนมากมายหลากหลาย  ทำให้ท่านคิดว่าจะต้องนำความรู้ที่ได้ศึกษาพัฒนาตนเอง  และช่วยเหลือผู้อื่น  ท่านเป็นคนที่มีความขยันหมั่นเพียรจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครู ประภัสสรสุทธิคุณในปี พ.ศ. 2515  เป็นพระภาวนาวิสุทธาจารย์  ในปี  พ.ศ. 2546  เป็นพระราชสิทธาจารย์  ในปี  พ.ศ. 2552 มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ดังนี้
    พ.ศ. 2515    เป็นเจ้าอาวาสวัดสุขวนาราม  ตำบลคำบง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี
    พ.ศ. 2515    เป็นเจ้าคณะตำบลคำบง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี
    พ.ศ. 2518    เป็นรองเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ
    พ.ศ. 2519    เป็นพระอุปัชฌาย์
    พ.ศ. 2524    เป็นรองเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ  รูปที่  1

    ในด้านการศึกษาปฏิบัติธรรมของท่านนั้น  ท่านแสวงหาและศึกษาอบรมจากพระอริยสงฆ์หลายท่าน ดังนี้
    พ.ศ. 2508    อยู่กับหลวงปู่แหวน  สุจิณโณ และหลวงปู่เทสก์  เทสรังสี
    พ.ศ. 2509    อยู่กับหลวงปู่ขาว  อนาลโย, หลวงปู่เพชร
    พ.ศ. 2510    อยู่กับหลวงปู่ชา  สุภัทโท
    พ.ศ. 2511    อยู่กับหลวงปู่ฟั่น  อาจาโร (รอบสอง)
    พ.ศ. 2512    อยู่กับหลวงปู่สด
    พ.ศ. 2513    อยู่กับหลวงปู่ดูลย์  อตุโล, หลวงปู่หล้า
    พ.ศ. 2514    อยู่กับท่านพุทธทาส (รอบสอง)
    พ.ศ. 2515    อยู่กับหลวงพ่อปัญญา  วัดชลประทาน, หลวงปู่อาจ  จังหวัดชลบุรี, หลวงปู่อาจ  วัดมหาธาตุ และวัดเพลงวิปัสสนา
    พ.ศ. 2516 – 2517   ท่านได้อยู่ปฏิบัติกรรมฐานในถ้ำโพธิสัตว์  จังหวัดสระบุรี

    หลังจากนั้น  ท่านได้ออกธุดงค์ทั่วไทย  และยังไปถึงประเทศใกล้เคียงคือ ลาว เขมร พม่า และมาเลเซีย
    ในปี พ.ศ. 2519-2530  ท่านได้สมาทานเข้าห้องบำเพ็ญภาวนา  ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างอุกฤษฎ์ในอิริยาบถ  3  คือ  ยืน  เดิน  นั่ง  ที่วัดไทยทรงธรรม  บ้านคำบง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  การปฏิบัติวิปัสสนาในห้องกรรมฐานนี้  จะสลับกับการออกธุดงค์  ดังนี้
        อยู่ในห้องกรรมฐาน    7  เดือน  ออกธุดงค์  5  เดือน
        อยู่ในห้องกรรมฐาน    9  เดือน  ออกธุดงค์  3  เดือน
        อยู่ในห้องกรรมฐาน  11  เดือน  ออกธุดงค์  1  เดือน
    พ.ศ. 2529    บำเพ็ญภาวนาอยู่ที่  อำเภอภูหลวง
    พ.ศ. 2530    บำเพ็ญภาวนา  อยู่ที่  ถ้ำผาป่าไร่ (ถ้ำพญานาค)  อำเภอน้ำหนาว    จังหวัดเพชรบูรณ์
    เมื่อครบ  12  ปีแล้ว  ท่านจึงออกเผยแพร่ธรรมเป็นเวลา  10  ปี (2533-2543)  มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)
    ในปี พ.ศ. 2519  ท่านได้ตั้งสัจจะบารมีว่าจะถืออิริยาบถ  3  คือ ยืน เดิน นั่ง  งดอิริยาบถนอนเป็นเวลา  30  ปี  และท่านได้ถือปฏิบัติมาตลอดจนกระทั่งถึงปี  พ.ศ. 2544  ท่านจำเป็นต้องนอน  ทั้งนี้เพราะอาพาธต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยโรคกระดูกสันหลังทับ เส้นประสาท
ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  สาเหตุการอาพาธครั้งนี้สันนิษฐานว่าท่าน
กรำงานหนักเกินไป
    ในปี พ.ศ. 2533  ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ  แล้วเริ่มออกทำงานด้านการเผยแผ่พุทธธรรม  โดยนำพระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษยานุศิษย์ภายในวัดออกเผยแผ่ปีละ  5  เดือนเป็นระยะเวลา  10  ปี  เริ่มจาก พ.ศ. 2533  จนถึง  ปี  พ.ศ. 2542
    ในปี พ.ศ. 2543  ท่านได้ตั้งสัจจบารมีว่าจะไม่รับกิจนิมนต์ใดเพื่อทำพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นเวลา 13 ปี  จนถึง พ.ศ. 2555  ทั้งนี้  เพื่อจะเป็นการทำกิจในการอบรมและสั่งสอนพระภิกษุสามเณรในวัดและประชาชนทุก หมู่เหล่าที่จะเข้ามาอบรมวิปัสสนากรรมฐานและฟังพระธรรมเทศนา ณ วัดนาหลวง อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์
    การศึกษา พระราชสิทธาจารย์ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกตามระเบียบการศึกษาภาค บังคับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2484  หลังจากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือใบลานหลักสูตร อักขระ  สันยะโต  (มูลกระจายน์)  จำนวน 7 ผูก  คือ สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ  จนสำเร็จ  ทำให้ ท่านแตกฉานในด้านอักษรศาสตร์  แม้กระนั้นท่านก็มิได้หยุดนิ่ง  ได้ขวนขวายเล่าเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณ  มีความสามารถในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  มีความขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอ  ปัจจุบันท่านได้ฟื้นฟูความรู้เรื่องพืชสมุนไพร  โดยให้บรรดาลูกศิษย์ คณะญาติโยมสร้างสวนสมุนไพรขึ้น
    ผลงานหนังสือ  พระราชสิทธาจารย์นอกจากจะเผยแผ่ธรรมด้วยมุขปาฐะแล้วยังได้เรียบเรียงคำ สอนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้หลายเล่ม  เช่น  ธรรมธารา  เล่ม  1-2  และ ขันธ์  5  คือกองทุกข์  ละขันธ์  5  ละกองทุกข์  ในชุดเดียวกัน  พ้นภัยด้วยธรรม  มาตา ปิตุธรรม ธัมโม วิภาโค ฯลฯ
เป็นต้น  นอกจากนั้น  หนังสือ  และเอกสารคำสอนต่าง ๆ  ซึ่งเปรียบเสมือนมรดกธรรมของท่านได้ถูกลูกศิษย์ลูกหา  รวบรวม  จัดทำเป็นรูปเล่ม  ต่างกรรม  ต่างวาระกัน  ดังจะเห็นได้มากขึ้นในปัจจุบัน  รวมทั้งมีการนำสื่อสมัยใหม่มาใช้  เพื่อช่วยเก็บหลักฐาน  สะสมความรู้  และเรียบเรียงให้อยู่ในรูปแบบ  วีซีดี  ดีวีดี  เทป  และแม้กระทั่ง  อยู่ในรูปแบบ  MP 3
    ปัจจุบันพระราชสิทธาจารย์ ยังคงมุ่งมั่นเผยแผ่ธรรมให้กับพุทธศาสนิกชน อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะโครงการแสดงธรรมทุกวันเสาร์ที่  2  ของเดือน  เป็นกิจกรรมสำคัญที่พระราชสิทธาจารย์เปิดโอภาสให้มีการปุจฉา  วิสัชนา  ด้วยคุณงามความดีที่ท่านได้สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน  สมควรที่จะได้รับการยกย่องสรรเสริญจากมหาชนทั้งหลายว่าเป็นพระอริยสงฆ์เป็น “ปูชนียบุคคลบนภูย่าอู่”  โดยแท้


รู้มีอำนาจ  ฉลาดมีเดช
    คำว่ารู้มี  2  อย่าง  1.  รู้เขา  2.  รู้เรา  การรู้เขา  จริงเท็จก็รู้ง่าย  ไม่ว่ากายใจอะไรก็ตามทีแต่การรู้เฉพาะเราไม่ว่าเท็จจริง  ก็ต้องยากยิ่งแน่แท้  โดยสิ่งเปิดเผยก็คือ  ถือตนจนมัว  ถือตัวจนมืดนี้  เป็นข้อเท็จจริงในการรู้เรา  คนยาก  พึงทราบของปกปิดกายจิตใจเจ้าของ  ดังนี้
1.  สติรู้ไม่ทันลมหายใจเข้าออก
2.  สติรู้ตามอิริยาบถ 4  ไม่ทัน
3.  สติสัมปชัญญะอ่อนแอ
4.  ไม่รู้แท้ว่าธาตุ  4  แค่รูป
5.  หลงใหลอาการ  32
6.  ลืมร่างโครงสร้างกองกระดูกว่า  เป็นเรา  จากนั้นเลยติดเวทนา  วิ่งตามจิต  หลงเสพพิษ

ธรรม  กายใจเลยเซถลาลงสู่ทางต่ำดำนั่นคือ  มานะ  มิจฉา  มาร  ครอบงำ  บดบังตัวเรา  จึงเป็นเงาอันรู้ยาก  มนุษย์จึงลำบากต่อการปกครองดำเนินชีวิตไป  อย่างรู้เรา  ราบรื่นตื่นอยู่อย่างสำราญเบิกบานอย่างสดใสเรารู้เรา  หมดเมา  หายมืด  จืดจากอวิชชา


พระครูภาวนาธรรมาภินันท์
เจ้าอาวาสวัดนาหลวง
 
ชาติภูมิ           
พระ ครูภาวนาธรรมาภินันท์  เกิดที่บ้านปลาเดิด  ตำบลระเวียง  อำเภอรัตนบุรี  จังหวัดสุรินทร์  เกิดเมื่อวันที่  1  กรกฎาคม  พ.ศ. 2506 เป็นบุตรคนสุดท้องของนายบุตรดี  และนางทอง  สีสุข  โดยมีนามเดิมว่าบุญทัน  สีสุข

บรรพชาอุปสมบท   
    เมื่อ  11  พฤษภาคม  พ.ศ. 2527  ได้อุปสมบทและจำพรรษาที่วัดอีสาน  บ้านโนนสั้น  ตำบลหนองหลวง  อำเภอรัตนบุรี  จังหวัดสุรินทร์  โดยมีพระรัตโนภาสวิมล  เป็นพระอุปัชฌาย์  มีฉายาว่าพระบุญทัน  อัคคธัมโม
    พ.ศ. 2528  จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสามัคคีธรรม  จังหวัดลพบุรี
    พ.ศ. 2529 – 2531  จำพรรษาอยู่ที่วัดอู่ทอง  อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี       
    พ.ศ.2539 – ปัจจุบัน  จำพรรษาที่วัดนาหลวง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี 
การศึกษา  ทางโลก  จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
     ทางธรรม  นักธรรมเอก  เปรียญธรรมประโยค  1-2

ตำแหน่งหน้าที่       
เมื่อ วันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ.  2536  ได้รับมอบหมายจากท่าน  พระครูประภัสสรสุทธิคุณ  (ขณะนั้น)  ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนาหลวง  และเมื่อสำนักสงฆ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นวัดอย่างเป็นทางการแล้วจึงได้รับ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนาหลวงอย่างเป็นทางการ   
พ.ศ. 2547  ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรพัดยศ  ชั้นโท  ฝ่ายวิปัสสนาธุระมีทินนามว่า  พระครูภาวนาธรรมาภินันท์  เมื่อวันที่  8  มกราคม  2547
พ.ศ. 2549  ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ  ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลกลางใหญ่  ทำหน้าที่ดูแล  ปกครองคณะสงฆ์ในเขตตำบล  เมื่อวันที่  27  พฤศจิกายน  2549            

1 ความคิดเห็น:

  1. อมรจะขออนุญาตนำภาพ หมู่พระสงฆ์ ภาพสุดท้ายที่เดินหันหลัง เป็นแถวยาว นำไปเป็นปกหน้า คลิปบทสวดสรภัญญ บทสวดสังฆคุณ นิพนธ์โดยพระยาศณีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ในวาระ ฉลอง 200ปีชาตกาล และได้รับการประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดย ยูเนสโก ประจำปี 2565 ได้ไหมคะ อมร 081-8619964

    ตอบลบ