วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วัดโพธิสมภรณ์

วัดโพธิสมภรณ์

วัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวง
วัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลหมากแข้ง เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ปลายรัชกาลที่ 5 โดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ เนติโพธิ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้ชักชวนราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้งสร้างวัด ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดใหม่ ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ทรงประทานนามว่า “วัดโพธิสมภรณ์” ให้เป็นอนุสรณ์แก่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรผู้สร้างวัดนี้ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์บูรพาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานด้วย

 ดูแผนที่เส้นทางไปวัด คลิ๊กที่นี่













ประวัติวัดโพธิสมภรณ์

    สถานที่ตั้งวัด
    วัดโพธิสมภรณ์  ตั้งอยู่ถนนเพาะนิยม  เลขที่  22  ตำบลหมากแข้ง  อำเภอเมือง  จังหวัดอุดรธานี  อยู่ทางทิศตะวันตกของหนองประจักษ์ มีเนื้อที่  40  ไร่
  
    ความเป็นมา
    วัดโพธิสมภรณ์เริ่มสร้างเมื่อปี  พ.ศ. 2449  ตอนปลายสมัยรัชกาลที่  5  แห่งรัตนโกสินทร์  โดยมหาอำมาตย์ตรี  พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร  (โพธิ  เนติโพธิ)  สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร  ได้พิจารณาเห็นว่าในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี  มีเพียงวัดมัชฌิมาวาส  วัดเดียวเท่านั้น  สมควรที่จะสร้างวัดขึ้นอีกสักวัดหนึ่ง  จึงได้ไปสำรวจดูสถานที่ทางด้านทิศใต้ของ “หนองนาเกลือ”  ซึ่งเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่  อุดมไปด้วยเกลือสินเธาว์  มีปลาและจระเข้ชุกชุม  (ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองประจักษ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่  กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี)  เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสมควรแก่การสร้างวัดได้เพราะเป็นที่ราบป่าละเมาะเงียบสงบดี  ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนักและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ
    เมื่อตกลงใจเลือกสถานที่ได้แล้ว  ก็ได้ชักชวนราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้ง  ถากถางป่าจนพควรแก่การปลูกกุฏิ  ศาลาโรงธรรม  สำหรับใช้เป็นที่บำเพ็ญบุญ  และเป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปีของหน่วยราชการ  ใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณ  1  ปี  ในระยะแรกชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหม่”
เพราะแต่เดิมมีเพียงวัดมัชฌิมาวาส  ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “วัดเก่า”  ด้วยพบร่องรอยเป็นวัดร้างมาก่อน  มีเจดีย์ศิลาแลงเก่าแก่และพระพุทธรูปหินขาว  ปางนาคปรก  และได้กราบอาราธนา  พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู)  เจ้าคณะเมืองอุดรธานี  จากวัดมัชฌิมาวาสมาเป็นเจ้าอาวาสวัด

    ตั้งชื่อ
    พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ  เนติโพธิ)  ได้นำความขึ้นกราบทูลขอชื่อต่อ  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  วัดราชบพิธฯ  กรุงเทพฯ  ได้ทรงประทานนามว่า  “วัดโพธิสมภรณ์”  เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แด่  พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ  เนติโพธิ)  ผู้สร้างวัดนี้

    ร่วมใจพัฒนา
    ประมาณ  3  ปีต่อมา  พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร  กับท่านเจ้าอาวาสก็ได้เริ่มสร้างโบสถ์ไม้ขึ้น  พอเป็นที่อาศัยทำอุโบสถสังฆกรรม  ครั้นต่อมา  ก็ได้เริ่มสร้างโบสถ์ก่อด้วยอิฐถือปูน  โดยใช้ผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นแรงงาน  โดยพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรเป็นช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างเอง  แต่ยังไม่แล้วเสร็จ  ท่านก็ได้ถึงแก่อิจกรรมเสียก่อนเมื่อปี พ.ศ. 2455
    สำหรับพระครูธรรมวินยานุยุต  ท่านมาอยู่ให้เป็นครั้งคราวบางปีก็มาจำพรรษาเพื่อฉลองศรัทธาของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรบ้าง  มีพระรูปอื่นมาจำพรรษาแทนบ้าง  ต่อมาเมื่อท่านชราภาพมากแล้วคณะศิษย์และลูกหลานทางเมืองหนองคาย  เห็นพ้องกันว่า  ควรอาราธนาท่านไปอยู่จำพรรษาที่วัดศรีเมือง  จังหวัดหนองคาย  เพื่อสะดวกในการปรนนิบัติ  และได้มรณภาพ  ณ  ที่นั้น

    เสาะหาผู้นำ
    ในปี พ.ศ. 2465  มหาเสวกโท  พระยาราชนุกูลวิบูลยภักดี (อวบ  เปาโรหิตย์)  ขึ้นดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลภาคอีสาน  และเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรธานีด้วย (ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามุขมนตรี  ศรีสมุหพระนครบาล)  ได้มาเสริมสร้างวัดโพธิสมภรณ์ต่อ
โดยขอขยายอาณาเขตให้กว้างออกไป  ตลอดถึงก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติมอีกหลายหลัง  พร้อมกับสร้างพระอุโบสถต่อจนแล้วเสร็จ  และจัดการขอพระราชทานวิสุงคามสีมาให้เป็นหลักฐาน  ทั้งเห็นว่าภายในเขตเทศบาลของจังหวัดนี้  ยังไม่มีวัดธรรมยุตติกนิกายสักวัด สมควรจะตั้งวัดนี้ให้เป็นวัดของคณะธรรมยุตโดยแท้
    เมื่อกิจการพระศาสนาได้เจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับเช่นนี้  แต่ว่ายังขาดพระภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาส  เจ้าพระยามุขมนตรีฯ  จึงได้ปรึกษาหารือกับพระเทพเมธี (ติสฺโส  อ้วน)  เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี  โดยมีความเห็นพ้องต้องกันว่า  สมควรจัดพระเปรียญเป็นเจ้าอาวาส  วัดโพธิสมภรณ์
เพื่อจะได้บริหารกิจการพระศาสนา  ฝ่ายปริยัติธรรมและฝ่ายวิปัสสนาธุระ  ให้กว้างขว้างยิ่งขึ้น  ดังนั้น  เจ้าพระยามุขมนตรีฯ  จึงนำความคิดเห็นกราบเรียนต่อพระศาสนโสภณ  เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส  กรุงเทพฯ  ก่อน  แล้วจึงนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  วัดราชบพิธฯ  ขอพระเปรียญ  1  รูป  จากวัดเทพศิรินทรฯ  ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์สืบไป  สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ  จึงทรงรับสั่ให้เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส  เลือกเฟ้นพระเปรียญ  ก็ได้พระครูสังฆวุฒิกร(จูม  พันธุโล)  ป.ธ. 3  น.ธ.โท  ฐานานุกรมของท่าน  ซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักวัดเทพศิรินทรฯ  เป็นเวลาถึง  15  ปี  ว่าเป็นผู้เหมาะสมทั้งยังเป็นที่ชอบใจของเจ้าพระยามุขมนตรีฯ  อีกด้วย  เพราะท่านเคยเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงอยู่ก่อนแล้ว พระครูสังฆวุฒิกร (จูม  พันธุโล)  จึงได้ย้ายจากวัดเทพศิรินทรฯ  กรุงเทพฯ  ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์  ตั้งแต่ปีกุน  พ.ศ. 2466  วัดโพธิสมภรณ์  จึงเป็นวัดของคณะธรรมยุตตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

    หลักธรรมเจดีย์
    วัดโพธิสมภรณ์  ในระยะนั้นยังมีสภาพเป็นป่าละเมาะอยู่มีเสนาสนะชั่วคราวพอคุ้มแดดคุ้มฝน  บริเวณโดยรอบก็ยังเป็นป่า  ไม่ค่อยมีบ้านเรือน  เงียบสงบ  อาหารบิณฑบาตตามมีตามได้  น้ำใช้ก็ได้  จากบ่อบาดาลในวัด  ซึ่งพระเณรช่วยกันตักหาบมาใส่ตุ่มใส่โอ่ง  พระเณรระยะแรก  ยังมีน้อย  ทั้งอัตคัดกันดารในปัจจยสี่  แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะบริหารกิจการพระศาสนาให้เจริญก้าวหน้า  พระครูสังฆวุฒิกร (จูม  พนฺธุโล)  ได้ทุ่มเทพัฒนาวัดในทุก ๆ ด้าน  ส่วนที่เป็นศาสนวัตถุนั้น  ท่านได้บูรณะซ่อมแซมและสร้างเสริมเพิ่มเติมให้มั่นคงถาวร  อาทิเช่น กุฏิก่ออิฐถือปูน  2  ชั้น  3  หลัง  กุฏิไม้  ชั้นเดียว  17  หลัง  ศาลาการเปรียญไม้  ชั้นเดียว  1  หลัง  โรงเรียนพระปริยัติธรรม  1  หลัง  โรงเรียนภาษาไทย  1  หลัง  โดยแต่ละหลังสูง  2  ชั้น  ผนังก่ออิฐถือปูน  พื้นไม้ตะเคียนทอง  หลังคามุงกระเบื้องดินเผา  สิ้นเงินหลังละประมาณ  20,000  บาท
    สำหรับพระอุโบสถ  ได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ  โดยพระยามุขมนตรีฯ (อวบ  เปาโรหิตย์) เป็นผู้อุปถัมภ์มีความกว้าง  12.47  เมตร  ยาว  27.85  เมตร  สูงจากพื้นถึงอกไก่  22.30 เมตร  มีเสาอยู่ภายใน  16  ต้น  ไม่มีช่อฟ้าใบระกา  ไม่มีมุขหน้า  มุขหลัง  ผนังก่อ อิฐถือปูนหนา  75  ซ.ม.  โครงหลังคาใช้ไม้เนื้อแข็งทั้งหมด  มุงด้วยกระเบื้องดินเผา  พื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผา  สิ้นเงินค่าก่อสร้าง  30,000  บาท
    ส่วนที่เป็นศาสนทายาทนั้น  ท่านได้เอาใจใส่ทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติ  โดยได้จัดบริหารการศึกษาพระปริยัติธรรม  ได้แก่  นักธรรมชั้นตรี,โท,เอก  และแผนกบาลีไวยากรณ์ (ตั้งแต่เปรียญ  3  ประโยค  ถึงเปรียญ  5  ประโยค  ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรจากจังหวัดต่าง ๆ ในมณฑลอุดรธานีมาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในวัดโพธิสมภรณ์  และสอบไล่ในสนามหลวงได้เป็นจำนวนมาก  นับเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมยกย่อง  ในฝ่ายวิปัสสนาธุระ  ได้จัดให้มีการอบรมกรรมฐานควบคู่กันไปด้วย  เพื่อฝึกหัดขัดเกลาบ่มเพาะนิสัยพระเณร  ให้มีความประพฤติเรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย
    เมื่อวันที่  6-9  เดือนมีนาคม  พ.ศ. 2467  ได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์  โดยมีพระศาสนโสภณ  (เจริญ  ญาณวโร)  เจ้าคณะรองคณะธรรมยุต  เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส  กรุงเทพฯ  เป็นประธานในการผูกพัทธสีมา  ในวันที่  6  เดือน มีนาคม  พ.ศ. 2467  มีพระเทพเมธี (อ้วน  ติสฺโส)  เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี  และพระมหาจูม   พนฺธโล  เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์  พร้อมด้วยพระสงฆ์  52  รูป  ร่วมในพิธีอยู่ด้วย
    พ.ศ. 2497  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณวงศ์(ม.ร.ว.ชื่น  นภวงศ์)  ทรงมีพระบัญชาให้  พระครูสิริสารสุธี (จันทร์ศรี  จนฺททีโป)  ไปอยู่วัดโพธิสมภรณ์  เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพระธรรมเจดีย์ (จูม  พนฺธุโล)  เนื่องด้วยชราภาพมากแล้ว
    ต่อมา  พ.ศ. 2501-2505  พระธรรมเจดีย์  ได้ให้ช่างต่อเติมมุขหน้า มุขหลัง ของพระอุโบสถอีกด้านละ  6  เมตร  จึงยาว  40  เมตร  พอดี  ตลอดถึงได้เปลี่ยนแปลงหลังคาเป็นสามลดสามชั้น  มุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา  มีช่อฟ้าใบระกา  โดยมอบหมายให้  พระสิริสารสุธีเป็นผู้ควบคุม  นับเป็นพระอุโบสถที่สวยงามในภาคอีสานอีกหลังหนึ่ง
    พ.ศ. 2505  พระธรรมเจดีย์  อาพาธด้วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีและถึงแก่มรณภาพด้วยความสงบ เมื่อวันที่  11  กรกฎาคม  พ.ศ. 2505  ณ  โรงพยาบาลศิริราช  คณะศิษยานุศิษย์  ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างเมรุถาวร  และศาลาบำเพ็ญกุศลศพ  2  หลัง  ได้แก่  ศาลาประจง-จิตต์  และศาลาสามพระอาจารย์  เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นที่พระราชทานเพลิงศพด้วย

    จันทร์ศรีผ่องเพ็ญ
    แต่เดิมนั้น  พระสิริสารสุธี (จันทร์ศรี   จนฺททีโป)  ไม่ได้คิดว่าจะได้มาอยู่วัดโพธิสมภรณ์เป็นเวลานาน  ด้วยมาตามพระบัญชาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ฯ  เมื่อกลับไปเข้าเฝ้า  สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ  ณ  วัดบวรนิเวศ  เพื่อกราบทูลขอกลับมาอยู่สำนักเดิม  ด้วยมีความประสงค์จะศึกษาเล่าเรียนให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป  พระองค์ทรงรับสั่งว่า  ยังหาตัวแทนไม่ได้  ก็เลยต้องอยู่ต่อไปจนกระทั่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ฯ  สิ้นพระชนม์ก็ยังไม่ละความตั้งใจเดิม  อยู่ต่อมา  พระธรรมเจดีย์ก็มาถึงแก่มรณภาพลงอีก  ท่านก็ได้ย้อนระลึกถึงพระคุณที่ได้รับความอุปถัมภ์บำรุง  ด้วยเมตตาธรรมตลอดมา  ทั้งจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ  พระธรรมเจดีย์จตลอดบรรดาบูรพาจารย์  ทุกท่านทุกองค์  จึงได้ตั้งใจเสียสละ  รับเอาภารธุระในกิจการพระศาสนาเพื่อสนองพระเดชพระคุณ  ด้วยความยินดีเต็มความสามารถที่จะทำได้
    ในเวลาต่อมา  วัดโพธิสมภรณ์  ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากยุคแรก ๆ เป็นอันมาก  มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างดี  ด้วยบรรดาศิษย์ยานุศิษย์  และสัทธิวิหาริกของพระธรรมเจดีย์  โดยเฉพาะบรรดาครูบาอาจารย์กรรมฐาน  สายท่านระอาจารย์มั่น  ภูริทตฺโต  ก็มีเป็นจำนวนมาก  ต่างเจริญงอกงามเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนาในฝ่ายคฤหัสถ์ก็เจริญก้าวหน้าในทางบ้านเมือง  ตลอดถึงประชาชนต่างก็มีความตื่นตัวสนใจในพระศาสนา  ก็ได้ช่วยกันทำนุบำรุงวัดโพธิสมภรณ์  ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา
    พ.ศ. 2506  เป็นศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  โดยมีนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ มาเรียน  ตั้งแต่ชั้น ป.5  จนถึงมัธยมต้น  เพื่ออบรมให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องลึกซึ้งยิ่งขึ้น
    วันที่  7  พฤษภาคม  พ.ศ. 2507  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ได้ทรงโปรดเกล้าฯ  พระราชทานพระบรมราชานุญาต  ให้วัดโพธิสมภรณ์เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ชนิดสามัญ
    วันที่  26  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2507  ให้พระราชเมธาจารย์(จันทร์ศรี  จนฺททีโป ป.ธ.4)  เป็นเจ้าอาวาสโพธิสมภรณ์
    วันที่  13  กรกฎาคม  พ.ศ. 2516  สมเด็จพระสังฆราชฯทรงประทานพัด, ย่าม, ใบยกย่องเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
    พ.ศ. 2517  ได้ตั้งศูนย์ศึกษาบาลีอีสาน (ธรรมยุต)  ที่วัดโพธิสมภณ์  โดยความเห็นพ้องต้องกันของพระสังฆาธิการทุกระดับในภาค 8-9-10-11  เป็นต้นมาจนกระทั่งบัดนี้
    พ.ศ. 2544  ได้ตั้งศูนย์พัฒนาคุณธรรมจริยธรรม  จังหวัดอุดรธานี
    วันที่  19  ตุลาคม  พ.ศ. 2538  สมเด็จพระสังฆราชฯ  ทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุ  จำนวน  9  องค์  ให้กับพระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี  จนฺททีโป)  เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์
    วันที่  29  พฤษภาคม  พ.ศ. 2548  พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี  จนฺททีโป)  วางศิลาฤกษ์ พระบรมธาตุธรรมเจดีย์  ไว้เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินไทย
    วันที่  1  กรกฎาคม  พ.ศ. 2552  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ  แก่พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี  จนฺททีโป)  เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน  ณ  พระบรมธาตุธรรมเจดีย์  วัดโพธิสมภรณ์
    วันที่  1  กันยายน  พ.ศ.  2552  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานงานฉลองสมโภช  พระบรมธาตุธรรมเจดีย์  และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ณ  พระบรมธาตุธรรเจดีย์  วัดโพธิสมภรณ์

    ลำดับเจ้าอาวาส
รูปที่  1  พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู)        พ.ศ.  2450-2465
รูปที่  2  พระธรรมเจดีย์ (จูม  พนฺธุโล)        พ.ศ.  2466-2505
รูปที่  3  พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี  จนฺททีโป)    พ.ศ. 2505-ปัจจุบัน
ประวัติและปฏิปทาพระอุดมญาณโมลี
(หลวงปู่จันทร์ศรี  จนฺททีโป)

    “หลวงปู่จันทร์ศรี  จนฺททีโป”  หรือ  “พระอุดมญาณโมลี”  เป็นพระมหาเถระสายกรรมฐานศิษย์หลวงปู่มั่น  ภูริทตฺโต  แม่ทัพธรรมแห่งอีสานฝ่ายวิปัสสนาธุระ, เป็นพระผู้มากด้วยเมตตาที่ได้รับความเลื่อมใส  ศรัทธา  และเป็นแบบอย่างอันงดงามของพระภิกษุสงฆ์  สามเณรและประชาชนชาวอีสานมาอย่างยาวนาน  ด้วยยึดหลักธรรมแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง  มีพลังเกื้อหนุนจากธรรมะของครูบาอาจารย์ที่คอยสนับสนุนตลอดมา  ปฏิปทาอันงดงามของหลวงปู่จึงเป็นครูของชีวิต  ที่คณะศิษยานุศิษย์ภาคภูมิใจยิ่ง
    หลวงปู่จันทร์ศรี   มีนามเดิมว่า จันทร์ศรี   แสนมงคล   เกิดเมื่อวันที่  10  ตุลาคม  พ.ศ. 2454  ตรงกับวันอังคาร  แรม  3  ค่ำ  เดือน 11  ปีกุน  ณ  บ้านโนนทัน  ต.โนนทัน  อ.เมือง  จ.ขอนแก่น  โยมบิดา – โยมมารดา  ชื่อ  นายบุญสารและนางหลุน  แสนมงคล  ก่อนที่โยมมารดาจะตั้งครรภ์ในคืนวันขึ้น  14  ค่ำ  เดือน  3  นั้น  ฝันเห็นพระ  9  รูป  มายืนอยู่ที่ประตูหน้าบ้าน  พอรุ่งขึ้นตรงวันขึ้น  15  ค่ำ  เพ็ญเดือน  3  ซึ่งเป็นวันมาฆบูชาได้เห็นพระกัมมัฏฐาน  9  รูป  มาบิณฑบาตยืนอยู่หน้าบ้าน  จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา  จึงรีบจัดภัตตาหารใส่ภาชนะ  ไปนั่งคุกเข่าประนมมือตรงหน้าพระเถระผู้เป็นหัวหน้า  ยกมือไหว้แล้วใส่บาตรจนครบทั้ง  9  รูป  แล้วนั่งพับเพียบประนมมือกล่าวขอพรว่า  “ดิฉันปรารถนาอยากได้ลูกชายสัก  1  คน  จะให้บวชเหมือนพระคุณเจ้าเจ้าคะ”
    พระเถระก็กล่าวอนุโมทนา  หลังจากนั้นอีก  1  เดือน  ก็ได้ตั้งครรภ์และต่อมาก็คลอดบุตรชายรูปงามในวันที่  10  ตุลาคม  พ.ศ.  2454  ปัจจุบัน  หลวงปู่จันทร์ศรี  สิริอายุย่าง  98  ปี  พรรษา  77  (เมื่อปี พ.ศ. 2552)  ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์  ต.หมากแข้ง  อ.เมือง  จ.อุดรธานี  ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค  9  (ธรรมยุต)  และที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.)

    การบรรพชาและอุปสมบท
    ด.ช.จันทร์ศรี  มีแววบวชเรียนตั้งแต่เมื่อครั้งเยาว์วัย  ด้วยโยมบิดา – โยมมารดา  ได้พาไปใส่บาตรพระทุกวันจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา  ในบางครั้ง  ด.ช. จันทร์ศรี  จะนำเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งชายและหญิง  7 – 8 คน  ออกไปเล่นหน้าบ้าน  โดยตนเองจะเล่นรับบทเป็นพระภิกษุเป็นประจำ
    อายุได้  8  ขวบ  โยมบิดาเสียชีวิตลง  จนอายุได้  10  ปี  โยมมารดาจึงนำไปฝากไว้กับเจ้าอธิการเป๊ะ  ธมฺมเมตฺติโก  เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี  เจ้าคณะตำบลโนนทัน  และเป็นครูสอนนักเรียนโรงเรียนประชาบาล  โดยรับไว้เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด  อยู่รับใช้ได้เพียง  1  เดือน  เจ้าอธิการเป๊ะ  นำเด็กชายเข้าเรียนภาษาไทย  ตั้งแต่ชั้นประถม  ก.กา  จนจบชั้นประถมบริบูรณ์  เจ้าอธิการเป๊ะเห็นว่ามีความสนใจในทางสมณเพศ  จึงได้ให้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร  เมื่อวันที่  6  พฤษภาคม  พ.ศ. 2468   ณ  วัดโพธิ์ศรี  บ้านศิลา  ต.ศิลา  อ.เมือง  จ.ขอนแก่น   ระหว่างปี  พ.ศ. 2468-2470  สามเณรจันทร์ศรี  หมั่นท่องทำวัตรเช้า  ทำวัตรค่ำ  สวดมนต์เจ็ดตำนานสิบสองตำนาน  และพระสูตรต่าง ๆ จนชำนาญ  อีกทั้งได้ศึกษาอักษรธรรม  อักษรขอม  อักษรเขมร  จนอ่านออกเขียนได้คล่องแคล่ว  แล้วมาฝึกหัดเทศน์มหาชาติชาดกทำนองภาษาพื้นเมืองของภาคอีสาน  แล้วอยู่ปฏิบัติธรรมถึง  3  ปี  จากนั้นได้ร่วมเดินทางกับพระอาจารย์อ่อน  ญาณสิริ  และพระอาจารย์ลี  สิรินฺธโร  ออกไปแสวงหา
ความวิเวกตามป่าเขา  และพักตามป่าช้าในหมู่บ้านต่าง  ๆ  เพื่อเข้ากรรมฐานและศึกษาอสุภสัญญา  ปฏิบัติธุดงควัตร  13  ตามแบบบูรพาจารย์อย่างเคร่งครัด
    ครั้นต่อมาได้ขึ้นไปแสวงหาวิโมกข์ธรรมบนภูเก้า  อ.โนนสัง  จ.หนองบัวลำภู  เลยขึ้นไปที่ถ้ำผ่าปู่  จ.เลย  วัดป่าอรัญญิกาวาส  อ.บ้านผือ  จ.อุดรธานี  พักที่วัดหินหมากเป้ง  และได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปนครเวียงจันทน์  พักที่โบสถ์วัดจันทร์  7  วัน  แล้วกลับมาหนองคายแล้วเข้าอุดรธานี
    ครั้นเมื่ออายุครบ  20  บริบูรณ์  ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ณ  พัทธสีมาวัดศรีจันทร์  ต.ในเมือง  อ.เมือง  จ.ขอนแก่น  เมื่อวันที่  13  มกราคม  พ.ศ. 2474  โดยมีพระเทพสิทธาจารย์(จันทร์  เขมิโย)  เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูพิศาลอรัญญเขตต์  เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น  เป็นพระอุปัชฌาย์,  พระอาจารย์สิงห์  ขนฺตยาคโม  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และพระมหาปิ่น  ปญญาพโล  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  มีพระอาจารย์กรรมฐาน  จำนวน  25  รูป  นั่งเป็นพระอันดับ  ได้รับฉายาว่า “จนฺททีโป”  อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีแสงสว่างเจิดจ้าดั่งจันทร์เพ็ญ”
    อุปสมบทได้เพียง  7  วัน  ท่านก็ได้ติดตามหลวงปู่เทสก์  เทสรังสี  พระกรรมฐานผู้เคร่งวัตรปฏิบัติแห่งวัดหินหมากเป้ง  ต.พระพุทธบาท  อ.ศรีเชียงใหม่  จ.หนองคาย  และพระอาจารย์อ่อน  ญาณสิริ  ศิษย์สายกรรมฐานหลวงปู่มั่น  เจ้าสำนักวัดป่านิโครธาราม  ต.หมากหญ้า
    อ.หนองวัวซอ  จ.อุดรธานี  เดินรุกขมูล  คือ  อยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร  ซึ่งเป็นหนึ่งในธุดงควัตร  13  ตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม  พ.ศ. 2475  ก่อนกราบลาหลงปู่เทสก์  เพื่อขอไปศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมต่อในกรุงเทพฯ
  
    การศึกษาพระปริยัติธรรมและงานด้านการศึกษา
    พ.ศ. 2474  สอบได้นักธรรมชั้นตรีได้ในสนามหลวง  คณะจังหวัดขอนแก่น
    พ.ศ. 2475  สอบนักธรรมชั้นโทได้ในสนามหลวง  คณะจังหวัดขอนแก่น
    พ.ศ. 2477  สอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสนามหลวง  สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
    พ.ศ. 2480  สอบเปรียญธรรม  3  ประโยค  สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร  กรุงเทพฯ
    พ.ศ. 2484  เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น  นภวงศ์  สุจิตฺโต)  ทรงมีบัญชาให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม  แผนกธรรมและบาลี  ณ  สำนักเรียนวัดป่าสุทธาวาส  ต.พระธาตุเชิงชุม  อ.เมือง  จ.สกลนคร
    ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน  พ.ศ. 2484  หลวงปู่มั่น  ภูริทัตตฺโต  ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส  เป็นเวลา  15  วัน  ทำให้ปลวงปู่จันทร์ศรีได้มีโอกาสใกล้ชิดหลวงปู่มั่น  ชั่วระยะเวลาหนึ่ง  ถือเป็นกำไรแห่งชีวิตอันล้ำค่า
    พ.ศ. 2485  สอบเปรียญธรรม  4  ประโยค  สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร  กรุงเทพฯ
    พ.ศ. 2485  ท่านได้กลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร  เพื่อศึกษาเปรียญธรรม
5  ประโยค
    พ.ศ. 2486  เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น  นภวงศ์  สุจิตฺโต)  ทรงมีบัญชาให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี  ป.ธ. 3-4  ณ  สำนักเรียนวัดธรรมนิมิต  ต.บางแก้ว  อ.เมือง  จ.สมุทรสงคราม  เป็นเวลานานถึง  10  ปี
  
    ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์  
    หลังจากจบเปรียญธรรม  4  ประโยคแล้ว  ท่านได้ช่วยเหลืองานพระศาสนา  โดยเมื่อปี พ.ศ. 2486  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต  ต.บางแก้ว  อ.เมือง  จ.สมุทรสงคราม
    ต่อมาวันที่  1  พฤษภาคม  พ.ศ. 2497  เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  (ม.ร.ว.ชื่น  นภวงศ์  สุจิตฺโต)  ก็ทรงมีพระบัญชาให้มาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์  ต.หมากแข้ง อ.เมือง  จ.อุดรธานี  เพื่อทำศาสนกิจคณะสงฆ์  เนื่องจากพระธรรมเจดีย์ (จูม  พนฺธุโล)  มีอายุเข้าปูนชรา  โดยแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์  และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี  (ธรรมยุต)  อีกตำแหน่งหนึ่ง
    พ.ศ 2498  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์  ประเภทวิสามัญและในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต)  อีกตำแหน่งหนึ่ง
    พ.ศ. 2505  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์  วัดราษฎร์
    พ.ศ. 2507  โปรดเกล้า ฯ  พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วัดโพธิสมภรณ์  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ชนิดสามัญ  และในปีเดียวกันท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์  พระอารามหลวงชั้นตรี
    พ.ศ. 2519  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าคณะภาค  9  (ธรรมยุต)  และรักษาการเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี
    พ.ศ. 2522  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะจังหวัดหนองคายและจังหวัดสกลนคร
    พ.ศ. 2531  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะภาค  9  (ธรรมยุต)  และเจ้าคณะภาค  9
(ธรรมยุต)  รวมทั้งได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.)

    ลำดับสมณศักดิ์  
    พ.ศ. 2475    เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่  พระครูสิริสารสุธี
    พ.ศ. 2498    เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่  พระสิริสารสุธี
    พ.ศ. 2505    เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่  พระราชเมธาจารย์
    พ.ศ. 2517    เป็นพระราชคณะชั้นเทพที่  พระเทพเมธาจารย์
    วันที่  5  ธันวาคม  พ.ศ.  2533  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่  พระธรรมบัณฑิต  
    วันที่  5  ธันวาคม  พ.ศ.  2544  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่  พระอุดมญาณโมลี  นับเป็นพระมหาเถระฝ่ายธรรมยุตรูปแรกที่อยู่ส่วนภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้น “รองสมเด็จพระราชาคณะ”รวมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค  9  (ธรรมยุต)

    งานด้านสาธารณสงเคราะห์
    ท่านได้ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่มีฐานะยากจนประพฤติดี  เรียนดี  ปีละ  40  ทุน ทุนละ  1,000  บาท  ให้รางวัลแก่พระภิกษุ – สามเณรที่สามารถสอบไล่ได้บาลีชั้นประโยค  1-2 เปรียญธรรม  3  ประโยค  เป็นประจำทุกปี  รูปละ  500   บาท  ส่วนครูรูปละ  1,000   บาท
    นอกจากนี้ยังรับภาระหน้าที่สำคัญ  ๆ  ในคณะสงฆ์อีกมากมาย  อาทิ  เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฏก  (พระสูตร),  เป็นพระอนุกรรมการคณะธรรมยุต, เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง, เป็นพระธรรมทูตประจำจังหวัดอุดรธานี, เป็นประธานมูลนิธิวัดโพธิสมภรณ์,  เป็นรองประธานกรรมการบริหารศูนย์บาลีศึกษาอีสาน (ธรรมยุต), เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์  วัดโพธิสมภรณ์

    ปฏิปทาและข้อวัตร
    แม้จะมีพรรษายุกาลมากถึง  98  ปี ก็ตาม  แต่ยังคงปฏิบัติกิจของสงฆ์และปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งท่านยึดเป็นหลักในการปฏิบัติเสมอที่ว่า
    “กยิรา เจ กยิราเถนํ”  แปลว่า “ ถ้าจะทำการใด  ให้ทำการนั้นจริง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างถ้ามีความขยันหมั่นเพียร  สิ่งนั้นต้องสำเร็จตามความตั้งใจจริง”
    นับว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่ประชาชนชาวอุดรธานีและใกล้เคียงให้ความเคารพศรัทธามากมายไม่น้อยกว่าบูรพาจารย์กรรมฐานแต่เก่าก่อนทุกวันนี้หลวงปู่จันทร์ศรีท่านยังมีความจำเป็นเลิศแม้อายุย่างเข้าวัยชรา  แต่ยังจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตได้อย่างแม่นยำ  โดยเฉพาะเมื่อเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง  หลวงปู่จะบอกชื่อคน  วันเวลา  ได้อย่างละเอียดเป็นที่น่าอัศจรรย์  สิ่งสำคัญในชีวิตหลวงปู่  คือ  การมีโอกาสได้ปฏิบัติใกล้ชิดกับพระเถระผู้ใหญ่  อาทิ  เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น  นภวงศ์  สุจิตฺโต)  วัดบวรนิเวศวิหาร, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน  ติสฺโส)  วัดพระศรีมหาธาตุ, หลวงปู่มั่น  ภูริทตฺโต,  หลวงปู่สิงห์  ขนฺตยาคโม  และหลวงปู่มหาปิ่น  ปญญาพโล  เป็นต้น
    ดังนั้น  หลวงปู่จึงมีความรอบรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี  ทั้งในเมือง  ในราชสำนัก  และสำนักพระกัมมัฏฐาน  และธรรมเนียมชาวบ้านเป็นอย่างดี  หลวงปู่จันทร์ศรีเป็นหลวงปู่ใจดีของลูกหลานญาติโยมโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ  ไม่ยึดติดลาภสักการะ  และไม่ยึดติดในบริวารชีวิตของหลวงปู่สมถะเรียบง่าย  เป็นอยู่อย่างสามัญ  แม้ท่านจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการปกครองคณะสงฆ์  แต่หลวงปู่ก็ไม่ทิ้งการปฏิบัติกัมมัฏฐาน
    เมื่อมีเวลาว่าง  หลวงปู่จะไปพักผ่อนเยี่ยมเยียนวัดวาอารามต่าง ๆ  แม้อยู่ลึกในหุบเขา  เพื่อให้กำลังใจพระกัมมัฏฐาน  พระเล็กเณรน้อยอย่างไม่ลดละ  ความสุขของหลวงปู่จึงอยู่ที่การได้ทำนุบำรุงบวรพระพุทธศาสนา  เยี่ยมเยียนพระสงฆ์สามเณร  ให้กำลังใจสอนธรรมะแก่คณะศรัทธา ประชาชน  ให้รู้จักดีชั่ว  บาปบุญคุณโทษ  ปฏิปทาของหลวงปู่จันทร์ศรี  จึงเป็นดั่งดวงประทีป  ดวงชีวิต  เป็นหลักชัยและหลักใจของลูกหลานชาวเมืองอุดรธานี  และผองชาวพุทธตลอดไป  ตราบนานเท่านาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น