วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วัดป่าภูก้อน

วัดป่าภูก้อน

วัดป่าภูก้อน เกิดจากความดำริของพุทธบริษัท ผู้ตระหนักถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ และความสำคัญของป่าไม้ธรรมชาติที่เหลือน้อยลงทุกวัน โดยมุ่งดำเนินตามรอยพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการรักษาความสมบูรณ์ของป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ตลอดจนสัตว์ป่า และพรรณไม้นานาพันธุ์ เพื่อให้เป็นมรดกของลูกหลานไทยคู่กับแผ่นดินไทย พร้อมทั้งเพื่อจรรโลงส่งเสริมพระบวรพุทธศาสนา ใฝเจริญมั่งคงคู่แผ่นดินไทยตราบชั่วกาลนาน
การก่อสร้างวัดป่าภูก้อนได้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ โดยการริเริ่มของครอบครัวนายโอฬาร และนางปิยวรรณ วีรวรรณ และโดยการเมตตาอนุเคราะห์ให้คำแนะนำปรึกษาของพระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในภูมิภาคอิสานหลายองค์ ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจของพุทธบริษัทหลายฝ่าย การก่อสร้างได้สำเร็จลุล่วงในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ.๒๕๓๙ งบการก่อสร้างรวม ๗๑ ล้านบาท

ดูแผนที่เส้นทางไปวัด คลิีกที่นี่ 






























 
ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ จังหวัดอุดรธานี ได้นำองค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ถวายเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ และได้รับอนุญาตให้อัญเชิญตราสัญญลักษณ์ และพระบรมรูปหล่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประดิษฐานภายในองค์พระมหาเจดีย์

ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆปริณายก ได้โปรดประทานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐาน ณ องค์พระเจดีย์วัดป่าภูก้อน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบ พิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระเกศพระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพา ซึ่งเป็นพระพุทธปฏิมาประธานประจำพระองค์ พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔

ความเป็นมาของวัดป่าภูก้อน
ภูก้อนเป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่งอยู่ในท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง กิ่งอำเภอนกยูง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี เป็นภูเขาใหญ่ สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๘๓๐ เมตร สูงกว่าภูเขาลูกอื่น ๆ ในแถบนั้น มีภูเขาลูกเล็ก ๆ ติดกันอยู่ โดยรอบบริเวณเป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์ อากาศชุ่มชื้นมีหมอกปกคลุม เป็นต้นน้ำลำธารที่มีน้ำไหลตลอดปี เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ได้แก่ หมูป่า หมี เก้ง กระจง ลิง ค่าง บ่าง ชะนี กระรอก กระแต และงูเหลือม
บริเวณภูก้อนปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่าเป็นสถานที่ซึ่งมีคนเคยอยู่อาศัยมาก่อน มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าเมืองโสม ได้พาไพร่พล ขนสมบัติหลบหนีข้าศึก นำสมบัตมาซุกซ่อนไว้ตามถ้ำในเทือกเขาภูก้อน ปรากฏชื่อเขาลูกหนึ่งในบริเวณนี้ว่า ภูเจ้าเมือง
ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงนับถือว่าภูก้อนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในเทศกาลสงกรานต์ชาวบ้านจะพากันขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธรูปในถ้ำ แต่ปัจจุบันนี้ถ้ำปิดเข้าไม่ได้
ได้ปรากฏนิมิตว่า หลวงปู่ฝั้น อาจาโร มาแนะนำให้ไปธุดงค์ทางภาคอิสานเป็นเวลา ๑๐ วัน ดังนั้นเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๒๗ คณะผู้ริเริ่มได้นิมนต์อาจารย์หนูสิน ฉันทสีโล ออกธุดงค์ที่จังหวัดสกลนคร แล้วมานมัสการหลวงปู่เทสก์ที่วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังวัดป่านาคำน้อย อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ที่มีอาจารย์อินถวาย สันตุสสโกเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาได้ทราบว่าท่านกำลังดำเนินเรื่องขอสร้างวัดในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้จำนวนมากไว้ คณะผู้ริเริ่มก็รับไปดำเนินการจนได้รับอนุญาต ให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูง และป่าน้ำโสม เพื่อจัดตั้งวัดป่านาคำน้อย และปลูกสร้างสวนป่าอนุรักษ์ธรรมชาติ แล้วได้รับอนุญาตให้สร้างวัด ให้ตั้งวัดจนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
ในปลายปี พ.ศ.๒๕๒๗ อาจารย์อินทร์ถวายได้นำมายังป่าภูก้อน ที่บ้านนาคำใหญ่ ตำบลบ้านก้อง ห่างจากวัดป่านาคำน้อย ประมาณ ๘ กิโลเมตร เป็นที่สัปปายะอย่างยิ่ง เคยมีพระธุดงค์มาพักวิเวกอยู่เสมอ เป็นที่ชอบใจของทุกฝ่าย จึงได้ลงมือสร้างวัดมีภิกษุสามเณรอยู่ประจำเรื่อยมา และได้อาราธนาอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม จากวัดถ้ำจันทร์ บ้านถ้ำจันทร์ ตำบลชมพุพร อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย ให้มาอยู่เป็นประธานผู้นำสร้างวัด โดยมีอาจารย์หนูสินเป็นผู้ประสานงาน

ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จากกรมป่าไม้เพื่อสร้างวัดป่าภูก้อนในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่านายูงและป่าน้ำโสม เพื่อสร้างวัดป่าภูก้อน ภายในพื้นที่ ๑๕ ไร่ (กว้าง ๑๒๐ เมตร ยาว ๒๐๐ เมตร) และต่อมาได้รับหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดในปีเดียวกัน
ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม เพื่อจัดตั้งพุทธอุทยาน มีพื้นที่ ๑,๐๐๐ ไร่ (กว้าง ๑,๐๐๐ เมตร ยาว ๑,๖๒๕ เมตร) และได้ขนานนามว่า พุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน
ในด้านเสนาสนะได้จัดสร้างศาลาเอนกประสงค์สองชั้น ชั้นบนใช้เป็นอุโบสถ ชั้นล่างใช้เป็นศาลาโรงฉัน และศาลาการเปรียญ กุฏิสำหรับภิกษุสามเณร ๔๕ หลัง เรือนครัว เรือนพักฆราวาส ๗ หลัง
ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในเขตกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา (ขอดสิม) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓
ทางวัดได้ร่วมกับกรมป่าไม้ช่วยกันดูแลรักษาป้องกันไฟป่า และการบุกรุกทำลายป่าล่าสัตว์ ทำให้วัดป่าภูก้อนเป็นที่สงบสับปายะวิเวก ควรแก่การบำเพ็ญภาวนากรรมฐาน
คณะผู้ศรัทธาได้ร่วมกันดำเนินการสร้างพระมหาเจดีย์ ณ ภูเจ้าเมือง การออกแบบใช้เวลาสองปี และได้มีการวางศิลาฤกษ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ การก่อสร้างเริ่ม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ ใช้เวลาก่อสร้างสามปีเศษ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๙ สิ้นค่าใช้จ่าย ๗๑ ล้านบาท ให้ชื่อว่า พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ โดยได้จองรูปแบบโดยรวมของสถาปัตยกรรมองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม องค์มหาเจดีย์เป็นทรงลังกา ประดับด้วยโมเสกแก้วทองคำสูง ๒๔ เมตร แบ่งเป็นสองชั้น ชั้นบนกว้าง ๑๑ เมตร
ภายในองค์เจดีย์ตกแต่งด้วยหินอ่อน และหินแกรนิต ซุ้มพระและองค์เจดีย์ภายในเป็นลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจก เพดานห้องโถงชั้นบนติดดาวไม้สักขนาดใหญ่ แกะสลักปิดทองฝังเพชร และพลอยรัสเซียหลากสีจำนวนกว่าแสนกะรัต
พิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จัดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๓๘ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่ออัญเชิญมาบรรจุพร้อมกับพระอรหันตธาตุ ซึ่งได้รับจากหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
คณะผู้ศรัทธาได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรัตนโกสินทร์ ด้วยทองคำบริสุทธิ์ ปางประทานพร หน้าตักห้านิ้ว แท่นอาสนะเป็นเงินบริสุทธิ์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานในซุ้มวิมาน ภายในองค์พระมหาเจดีย์คู่กับพระสยามเทวาธิราชจำลองสององค์ ส่วนซุ้มพระอีก ๕ ซุ้มเป็นที่ประดิษฐานพระรูปและรูปหล่อสำริดของครูบาอาจารย์หกรูป ที่มีส่วนสำคัญในชีวิตของผู้จัดตั้งวัดป่าภูก้อน คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ขาว อนาลโย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ และหลวงปู่บัว ญาณสัมปันโน ฐานชั้นล่างกว้าง ๑๔ เมตร เป็นที่เก็บอัฐบริขาร และรูปภาพพระอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่สี่รูป ด้านหน้าองค์พระมหาเจดีย์เป็นซุ้มประดิษฐานพระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพา ปางห้ามญาติ สูง ๔.๕๐ เมตร

ราวบันไดทางขึ้นพระมหาเจดีย์ เป็นพญานาคทองสำริดเจ็ดเศียรหนึ่งคู่ ยาว ๑๐๐ เมตร กึ่งกลางเป็นศาลารายสองหลัง สำหรับจุดธูปเทียนสักการะพระมหาเจดีย์หนึ่งหลัง และสำหรับจารึกรายชื่อผู้บริจาค และเก็บอัฐิของผู้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างพระมหาเจดีย์อีกหนึ่งหลัง รอบองค์พระมหาเจดีย์เป็นระเบียงสามารถมองเห็นทัศนียภาพไปไกลถึงแม่น้ำโขง ใต้ฐานพระมหาเจดีย์เป็นกุฏิพระ และมีที่เก็บน้ำ

ลานหน้าพระมหาเจดีย์ มีพื้นที่ประมาณสามไร่ เป็นที่ตั้งของศาลาเรือนไทยสี่หลังใช้เป็นศาลาอำนวยการศาลาสงฆ์ และศาลาเอนกประสงค์
ด้วยเหตุที่องค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่ง หนึ่งของจังหวัดอุดรธานี และเป็นสมบัติของชาติ ทางจังหวัดอุดรธานีจึงได้นำถวายเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ทางวัดจึงได้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ และรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประดิษฐานไว้ภายในองค์พระมหาเจดีย์


ปฐมเหตุในการสร้างพระพุทธรูปหินอ่อนขาว ปางปรินิพพาน วัดป่าภูก้อน
         ขณะนี้วัดป่าภูก้อน จ.อุดรธานี กำลังดำเนินการก่อสร้าง พระพุทธรูปหินแกะสลักด้วยหินอ่อนไว้ท์คาร์ราร่า นำเข้าจากอิตาลี  ความยาว 20 เมตร มีพระมหาวิหาร กว้าง 39 เมตร ยาว 49 เมตร โดยมีท่านพระครูจิตตภาวนาญาณ (พระอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม) เป็นเจ้าคณะอำเภอนายูง (ธ) ต.บ้านก้อง จ.อุดรธานี  เป็นเจ้าอาวาสปกครองคณะสงฆ์ และ เป็นหลักชัยที่ให้กำลังจิตใจในการรักษาป่า  ตั้งแต่เข้ามาขอสร้างวัดในถิ่นทุรกันดาร เป็นเวลา 23 ปี  ให้เครื่องอยู่อาศัยในปัจจัยสี่   ได้สร้างสถานศึกษาและให้ทุนการเรียน  ธรรมคำสอนในการดำเนินชีวิตกับชาวบ้านทุกหมู่เหล่าจนถึงทุกวันนี้

องค์ ท่านและคณะสงฆ์ พร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกาได้จัดตั้งโครงการให้บริหารดำเนินการ โดยได้จัดสถานที่บนยอดเขาลูกหนึ่ง   เป็นลานกว้างขวางชื่อว่า "ลานอาสนะพุทธะ"   มีทัศนียภาพเป็นทิวเขาและทะเลต้นไม้อันสวยงาม เหมาะสมที่จะเป็นที่ประดิษฐานเครื่องสักการะบูชาพระองค์นี้

          ขอความศักดิ์สิทธิ์ในพระหฤทัยขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่มีพระเมตตากรุณาต่อสรรพสิ่งด้วยความบริสุทธิ์  โปรดประทานความเข้มแข็งให้คณะผู้ร่วมสร้าง ผู้อุทิศสร้าง  จงดำรงความตั้งมั่นให้เครื่องสักการะนี้แล้วเสร็จในเร็ววัน  เพื่อความสุขความเจริญแด่เหล่าข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  จงทุกผู้ทุกนามเทอญพระปางปรินิพพานนี้ เป็นปางที่มีความบริสุทธิ์วิสุทธิคุณ สำหรับผู้ประพฤติปฎิบัติเพียรไปเพื่อการทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น เป็นปางที่อัศจรรย์ ท่านได้ให้ธรรมคำสอน จนสะอาดหมดจด หมดสิ้นแล้วไว้ในโลกนี้ และสิ้นสุดในการรับเครื่องสักการะทั้งปวง จบการทวงถามและร้องขอ พุทธลักษณะสงบเย็น ด้วยบรมสุข การได้มีจิตน้อมไปถึงความนิ่งแห่งพุทธสรีระ หินอ่อนสีขาว สง่างาม มีคุณลักษณะอ่อนช้อยงดงาม จะบังเกิดปณิธานที่เป็นมงคลยิ่ง แต่ผู้เข้ามาสักการะบูชาพระสัทธรรมอันประเสริฐ ประดุจเห็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรินิพพานอยู่ตรงหน้า เกิดความสลดสังเวชใจ แม้พระองค์จะเสด็จปรินิพพานไปนานแล้ว ยังทรงประทานความเมตตาอันวิสุทธิ์ ปัญญาอันวิสุทธิ์ ค้ำจุนโลกไว้เพื่อให้พุทธบริษัทสี่ เพียรไปให้เข้าถึงความบริสุทธิ์วิสุทธิคุณจนถึงทุกวันนี้ จิตจะสงบด้วยความระลึกสำนึก ซาบซึ้งในเมตตาธรรมอันร่มเย็นเป็นสมาธิโดยธรรม เป็นเครื่องน้อมรำลึกฝึกฝนตลอดกาลสมัยของตน


พระครูจิตตภาวนาญาณ (ชาลี ถิรธมฺโม)

เจ้าอาวาสวัดป่าภูก้อน เจ้าคณะอำเภอนายูง (ธ)

ประวัติเบื้องต้น
พระอาจารย์ชาลี ถิรธมฺโม เกิดวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนแปด ปีระกา ที่บ้านบก ตำบลหนองนกไข่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
บรรพชาอุปสมบท
บรรพชาที่วัดศิริราษฎร์วัฒนา บ้านเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ และ ต่อมาได้อุปสมบท ที่วัดศิริราษฎร์วัฒนา จังหวัดสกลนคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ มีพระอาจารย์คำมี สุวรรณศิริ เป็นพระอุปัชฌาย์
ปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๗
ได้รับนิมนต์มาอยู่ช่วยสร้างวัดป่าภูก้อน ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าภูก้อน เป็นอุปัชฌาย์ และ เป็นเจ้าคณะอำเภอนายูง(ธ)
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูจิตตภาวนาญาณ" ...

วัดป่านาคำน้อย

วัดป่านาคำน้อย

วัดนาคำน้อย(วัดป่านาคำน้อย) (วัดอุดมมงคลวนาราม)เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในบ้านนาคำน้อย หมู่ 7 บ้านนาคำน้อย ต.บ้านก้อง อ.นายูง จ.อุดรธานี เป็นวัดที่อยู่ในธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้นานาชนิด มีสัตว์ป่ามากมาย บริเวณวัดเป็นแหล่งปฏิบัติธรรมของ  พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก เจ้าอาวาส ศิษย์เอกของหลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโณ วัดป่านาคำน้อย เป็นวัดป่าสายธรรมยุต แยกออกมาจากวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี  เมื่อหลายปีที่ผ่านมา มีญาติโยมผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและมีกำลังศรัทธามาร่วมทำบุญ โดยมีพระสายวัดป่าที่มีแนวทางปฏิบัติตามคำสอนของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มาจำพรรษาเป็นจำนวนมาก ในถิ่นทุรกันดารการออกเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนเทือกเขา ลำบากมาก ปัจจุบันบริเวณภายในวัดมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้นานาชนิด เหมาะแก่การภาวนาเป็นอย่างยิ่ง 
ดูแผนที่เส้นทางไปวัด คลิ๊กที่นี่

 ประวัติวัดนาคำน้อย
    วัดนาคำน้อย(วัดป่านาคำน้อย)  เดิมชื่อ  วัดอุดมมงคลวนาราม  เป็นนามที่ได้รับเมตตาประทานจากหลวงตาพระมหาบัว  ญาณสัมปันโน  แต่ต่อมาทางราชการมีแนวคิด  เกี่ยวกับการตั้งชื่อวัดให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้านที่ตั้งของวัด  จึงได้ใช้นามว่า “วัดนาคำน้อย”  ในปัจจุบัน
    สถานที่ตั้งวัด  อยู่ที่หมู่  7  บ้านนาคำน้อย  ตำบลบ้านก้อง  อำเภอนายูง  จังหวัดอุดรธานี
รหัสไปรษณีย์  41380  มีพื้นที่ในปัจจุบัน  1,350   ไร่  เริ่มก่อตั้งเมื่อปี  พ.ศ. 2523
    ประวัติการก่อตั้งวัด วัดนาคำน้อย(วัดป่านาคำน้อย)  ได้รับการตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่  13  มิถุนายน  2529  และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อวันที่  18  มกราคม  2531  ตามบัญชีรายชื่อวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  งวดที่  6  ประจำปี  2530  ลำดับที่  36  วัดนาคำน้อย  ตำบลบ้านก้อง  อำเภอน้ำโสม  (ในขณะนั้น)  จังหวัดอุดรธานี  ขนาดวิสุงคามสีมา  กว้าง  40  เมตร  ยาว  80  เมตร  ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  105  ตอนที่  14  วันที่  22  มกราคม  2531  กองพุทธสถานกรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ  วันที่  9  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2531  เพื่อดำเนินตามแนวทางที่องค์หลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโน  ได้เมตตาชี้แนะไว้ว่า  “สถานที่นี้เหมาะสำหรับผู้สนใจภาวนาเพราะเป็นป่า เป็นเขาสงบสงัด”
    สภาพก่อนที่จะต้องเป็นวัด  ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย  สันตุสสโก  ขณะนั้นจำพรรษอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด  ได้ธุดงค์มาในเขตนี้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้  ในขณะนั้นเป็นพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ป่านายูง  และป่าน้ำโสม  มีสภาพทรุดโทรม  และเป็นพื้นที่ป่าที่ได้รับสัมปทานไปแล้วหลายวาระ  ประกอบกับเป็นพื้นที่สีชมพู  อยู่ในเขตปฏิบัติการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  น่าจะได้รับการฟื้นฟูทั้งทางรูปธรรม  และนามธรรม  โดยที่ท่านพระอาจารย์ได้เคยวิเวกมาในแถบนี้  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516  เป็นต้นมา  หลายวาระด้วยกัน  จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2523  ได้ธุดงค์มาอีกรอบหนึ่ง  ในครั้งนี้  ได้ธุดงค์มาปักกลด  ณ  บริเวณต้นสะท้อน  ริมห้วยราง  (ตรงบริเวณที่เป็นโรงครัวในปัจจุบัน)  เห็นว่าเป็นสถานที่สัปปายะ  น่าจะได้มีการจัดตั้งเป็นวัดปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา  จึงได้ชักชวนคณะศรัทธาญาติโยม  หมู่เพื่อนสหธรรมิกพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า  มาร่วมกันก่อสร้างเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐาน  สายพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต
    สภาพป่าภายในบริเวณวัด  เป็นป่าที่สมบูรณ์ประมาณ  600  ไร่  แต่ได้รับการปลูกเสริมเพิ่มเติม  เช่น  สัก  ประดู่  มะค่า  ยาง  กระบาก  ตะแบก  ตะเคียนทอง  เป็นต้น  ปัจจุบันได้ปลูกเสริมจนเต็มพื้นที่  จึงสามารถมองเห็นสภาพป่าดั้งเดิมและปลูกเสริมใหม่เจริญเติบโตร่วมกัน
    สัตว์ป่าภายในวัด  เนื่องจากพื้นที่นี้แต่เดิมเป็นป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์  จึงมีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่  เช่น  หมูป่า  กระรอก  ค่าง   ลิง  ชะนี  งูจงอาง  งูเห่า  เหี้ย  กระจง  นิ่ม  และนกชนิดต่าง  ๆ
    สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัด  ศาลาอเนกประสงค์  ขนาด  2  ชั้น  พื้นที่กว้าง  16  เมตร  ยาว  24  เมตร  เป็นสถานที่ที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม  เป็นที่ฉันภัตตาหาร  เป็นที่บำเพ็ญกุศลในโอกาสต่าง  ๆ  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีกุฏิถาวร ประมาณ  15  หลัง  และร้านพักพระประมาณ  40  หลัง  โรงน้ำร้อน  โรงครัว  และที่พักฝ่ายอุบาสก  อุบาสิกาจำนวน  รวม  15  หลัง  และถนนคอนกรีตเชื่อมโยงภายในวัดรวมเส้นทาง   4  กม.เศษ
    พระเมตตาจากองค์หลวงตา  กำแพง  คอนกรีตเสริมเหล็ก  ขนาดความสูง  2.45  เมตร  ยาว  6.75  กิโลเมตร  ครอบคลุมพื้นที่  1,350  ไร่  มูลค่า  20  ล้านบาทเศษ  และฝายน้ำล้น  ฝายเก็บกักน้ำหลายแห่งภายในวัด  ได้รับเมตตาอุปถัมภ์ในการก่อสร้าง  จากองค์หลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโน  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ที่ได้มาอาศัยอยู่ให้ได้รับความร่มเย็นตาม อัตภาพ
    สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน  เป็นที่ตั้งของลูกข่าย  สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน  รับสัญญาณจากสถานีแม่ที่วัดป่าบ้านตาด  ขนาดคลื่นความถี่  107.25  MHZ  ครอบคลุม  พื้นที่อำเภอบ้านผือ  น้ำโสม  นายูง  (จังหวัดอุดรธานี) สุวรรณคูหา  (จังหวัดหนองบัวลำภู)  สังคม(จังหวัดหนองคาย)  และจังหวัดเลยบางส่วน
    จำนวนพระสงฆ์จำพรรษา  ในแต่ละปีจะมีพระสงฆ์จำพรรษา  ประมาณ  30-40  รูป ในภาคฤดูร้อน  เป็นสถานที่ที่พระสงฆ์ที่อุปสมบทจากกรุงเทพมหานคร  มาพำนักปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อปี พ.ศ. 2548-2550  มีนักศึกษาแพทย์ศิริราช  มหาวิทยาลัยมหิดล  มาบวชศึกษาภาคปฏิบัติ  เป็นต้น
    การอบรมพระภิกษุสามเณร  และศรัทธาญาติโยม  ได้กระทำทุกปีทั้งในหน้าแล้ง หน้าฝน ในฤดูจำพรรษา  ก็มีอุบาสกอุบาสิกามาอยู่จำศีล  ภาวนาประมาณ  100  คนเศษ
    ขยายและส่งเสริม  สำนักและวัดปฏิบัติธรรม  เมื่อท่านพระอาจารย์ได้มาจำพรรษาในแถบนี้
รวม ทั้งในแถบอื่นหลายวัดด้วยกัน  เช่น  วัดป่าภูก้อน  วัดป่าบ้านเพิ่ม  วัดป่าหลุบเลา  วัดป่าแค  วัดป่าบ้านก้อง  วัดป่าวังแข้  อำเภอนายูง  วัดป่าโคกสาคร  อำเภอน้ำโสม  จังหวัดอุดรธานี  เป็นต้น  วัดหมู่เพื่อนสหธรรมิก  เช่น  วัดป่ากุดสิม  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองบัวลำภู  วัดป่าบ้านใหม่  อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี  และท่านได้ตั้งวัดสาขา เช่น วัดป่าพิมาย  อำเภอพิมาย  จังหวัดนครราชสีมา  และสนับสนุน  ศิษย์ที่เคยอยู่ในสำนักของท่านออกไปตั้งวัดหลายแห่ง  หลายจังหวัดด้วยกัน  อาทิ  วัดป่าภูน้ำป๊อก  อำเภอกระนวน  จังหวัดขอนแก่น  วัดป่าชัยพฤกษ์  กิ่งอำเภอเอราวัณ  วัดป่าอุดมมงคลญาณสัมปันโน (ห้วยซวก)  อำเภอเชียงคาน  จังหวัดเลย  วัดป่าเทพมงคล  อำเภอนาด้วง  จังหวัดเลย  วัดป่าภูสวรรค์  อำเภอปากชม  จังหวัดเลย  วัดป่าภูเขาวงศ์  วัดป่าภูพัง กิ่งอำเภอนาวัง  จังหวัดหนองบัวลำภู  วัดป่าสุวรรณภูมิ  อ.สุวรรณภูมิ  จังหวัดร้อยเอ็ด  เป็นต้น
    

พระอาจารย์อินทร์ถวาย  สันตุสสโก
เจ้าอาวาส

ประวัติ

    พระอาจารย์อินทร์ถวาย  สันตุสสโก  เกิดเมื่อวันที่  27  เมษายน  2488  ตรงกับปีระกา  ที่บ้านหนองแวง  ตำบลหนองสูงใต้  อำเภอหนองสูง  จังหวัดมุกดาหาร  (จังหวัดนครพรมในขณะนั้น)  โยมบิดาชื่อ  คุณพ่อแดง  โยมมารดาชื่อ  คุณแม่จอมแก้ว  ผิวขำ  เป็นบุตรคนที่  6  ในจำนวนพี่น้อง
7 คน เป็นหญิง  3  คน เป็นชาย  4  คน
    ท่านบรรพชาขณะมีอายุ  11  ปี  ณ  วัดกลางสนาม  อำเภอหนองสูง  จังหวัดมุกดาหาร  เมื่อปี พ.ศ. 2500  โดยมี  หลวงปู่กงแก้ว  ขันติโก  เป็นพระอุปัชฌาย์  บรรพชาแล้ว  ได้อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่หล้า  เขมปัตโต  วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ)  ตำบลหนองตูมใต้  อำเภอหนองสูง  จังหวัดมุกดาหาร  เป็นระยะเวลา  9  ปี  และได้รับการญํตติเป็นพระภิกษุที่วัดศิลาวิเวก  อำเภอเมือง  จังหวัด
มุกดาหาร  เมื่อปี  พ.ศ. 2508  โดยมีหลวงปู่คำ  คัมภีรญาโณ  เป็นพระอุปัชฌาย์  เมื่ออุปสมบทแล้ว  ในพรรษาแรกได้อยู่จำพรรษากับหลวงปู่หล้า  เขมปัตโต  ที่วัดภูจ้อก้อ  อีกหนึ่งพรรษา
    หลังจากนั้น  ได้ไปจำพรรษากับหลวงปู่จาม  มหาปุญโญ  ที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม  บ้านห้วยทราย  อำเภอคำชะอี  จังหวัดมุกดาหาร  1  พรรษา  แล้วติดตามองค์หลวงปู่จาม  ขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่  และไปจำพรรษากับหลวงปู่แหวน  สุจิณโณ  ณ  วัดดอยแม่ปั๋ง  อำเภอพร้าว  จังหวัดเชียงใหม่  เป็นเวลา  1  พรรษา  แล้วกลับลงมาจำพรรษาอีกครั้งหนึ่งกับหลวงปู่จาม  มหาปุญโญ  ที่วัดป่าห้วยทราย  อำเภอคำชะอี  จังหวัดมุกดาหาร  หลังจากนั้น  ช่วงปี  2512-2525  ได้อยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด  ตำบลบ้านตาด  อำเภอเมือง  จังหวัดอุดรธานี  กับองค์หลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโน
    ช่วงออกพรรษา  ได้ลงองค์หลวงตามาวิเวกในแถบจังหวัดเลย   อุดรธานี  หนองคาย  ราว  พ.ศ. 2523  เห็นว่าสถานที่ตั้งวัดป่านาคำน้อยในปัจจุบัน  เป็นสถานที่สัปปายะเหมาะสำหรับการภาวนา  จึงได้รวมกับคณะศรัทธาญาติโยม  พุทธบริษัททุกหมู่เหล่าร่วมกัน  จัดตั้งเป็นวัดปฏิบัติในพระพุทธศาสนา  และได้พัฒนาให้มีความเจริญสืบเนื่องเป็นลำดับมา  อำนวยประโยชน์สมตามปณิธานของท่านผู้ก่อตั้งวัด  ที่จะให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานฝึกอบรมทั้งทางร่างกาย  (ศีลธรรม) และจิตใจ (จริยธรรม)  ให้เป็นผู้สมบูรณ์ทั้งทางด้านวิชชาและจรณะควบคู่กันไป  สมตามพุทธภาษิตที่ว่า “อัตตานัง  ทะมะยันติ  ปัณฑิตา  บัณฑิตย่อมฝึกซึ่งตน)

งานสาธารณประโยชน์

    เมื่อวัดได้รับการพัฒนา  ในขอบเขตที่พอเป็นไป  ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย  สันตุสสโก  ได้ให้ความสนใจงานสาธารณสุข  และงานการศึกษาเป็นพิเศษ  โดยได้ร่วมกับคณะศรัทธาญาติโยม พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า  เป็นสะพานบุญเชื่อมโยง  ชักชวน  ร่วมกันประกอบสาธารณกุศลในงานอันเป็นสาธารณประโยชน์  เช่น  การก่อสร้าง  อาคารพยาบาล  จัดหาเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์  แก่โรงพยาบาลหลายแห่ง  ทั้งโรงพยาบาลศูนย์  โรงพยาบาลจังหวัด  โรงพยาบาลอำเภอ หอพยาบาลโรงเรียน  อาคารเรียน  ห้องสมุด  ห้องคอมพิวเตอร์  ทั้งโรงเรียนมัธยม  และประถมศึกษา  อาคารหอประชุม  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี  เขต 4  อาคารอเนกประสงค์  ร.ร.ตชด. อาคารศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน  มอบทุนการศึกษา  ทุกอาหารกลางวัน  สร้างรั้วโรงเรียน  แก่สถานศึกษาหลายแห่ง  สร้างหอประชุมตำรวจ  ทางคอนกรีตภายในโรงพัก  ที่พักสายตรวจ  ศูนย์บริการประชาชนของตำรวจ  ยานพาหนะตำรวจ  เป็นต้น  เป็นมูลค่ารวม  100  ล้านบาท  โดยได้รับเข็มเสมาธรรมจักรทองคำ  เชิดชูเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการ  เมื่อปี พ.ศ. 2549  และได้รับโล่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เมื่อปี พ.ศ. 2550
    เมื่อปี พ.ศ. 2549 – 2550  ได้ร่วมกับคณะสงฆ์  ศรัทธาพุทธบริษัท  และคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ร่วมกันจัดสร้าง  หออภิบาลสงฆ์  หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต  ณ  โรงพยาบาลศรีนครินทร์  จังหวัดขอนแก่น  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  80  พรรษา  5  ธันวาคม  2550  ณ  อาคาร “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”  (อาคาร  19  ชั้น )  ขนาดพื้นที่ 1,750  ตร.ม.บนชั้นที่  10  เพื่อรักษาพระสงฆ์สามเณรที่อาพาธ  จากทั่วทุกภาคของประเทศและจากทุกมุมโลก  ให้ได้รับการรักษาตามหลักพระธรรมวินัย  และตามหลักการแพทย์สมัยใหม่อย่างสมบูรณ์
    นอกจากนี้  ได้ทำการจัดตั้งเป็นมูลนิธิและกองทุนเพื่อดูแลพระสงฆ์สามเณร  แม่ชี  อาพาธ  และป่วย  ให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนสืบไป  โดยศรัทธาทั้งพระสงฆ์และพุทธบริษัท
ร่วมกันบำเพ็ญในครั้งนี้เป็นมูลค่า ทั้งโครงการ (การตกแต่งหอสงฆ์  การจัดหาเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์  และการจัดตั้งเป็นมูลนิธิและกองทุน)  รวม  50  ล้านบาท  จนทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้ประกาศเกียรติคุณ  ให้เป็นบุคคลดีเด่นเพื่อเข้ารับพระราชทานถวายรางวัลพระธาตุพนมทองคำ  ประจำปี พ.ศ. 2550  จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  เมื่อวันที่  17  ธันวาคม  2550
    คติพจน์พระอาจารย์อินทร์ถวาย  สันตุสสโก  ปัจจุบันธรรม – ทำวันนี้ให้ดีที่สุด
    “ประดับชีวิตของเราให้มีค่า  ทุกเวลาผ่านไปแล้วย่อมผ่านไปเลย  พากันเร่งสร้างคุณธรรมประจำใจไว้  พร้อมสำนึกอยู่เสมอว่า  ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่จะทำวันนี้ให้ดีที่สุด  เพราะกิตติศัพท์  ทรัพย์โภคา  หาไปด้วย (ไม่ได้ไปด้วย) มีแต่บุญเข้าช่วยเมื่อม้วยมรณ์”
    จากหนังสือประทีปอริยธรรม หน้า 61

งานเพื่อพระพุทธศาสนา
พุทธปัจฉิมวาจา
“ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์และประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
    งานที่พระอาจารย์อินทร์ถวาย  สันตุสสโก  ให้ความสำคัญอย่างมากเป็นอันดับแรก  ก็คืองานเพื่อฝึกตนให้ดีในด้านศีล  สมาธิ  ปัญญา  แล้วจึงบำเพ็ญประโยชน์ท่าน  ด้วยการทดแทนคุณถวายเป็นพุทธบูชา  ธรรมบูชา  สังฆบูชา  โดยท่านได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างพุทธเจดีย์  ธรรมเจดีย์  สังฆเจดีย์  เพื่อเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  หลักธรรมคำสอน  และอัฐิธาตุ  ถวายแด่พ่อแม่ครูอาจารย์   ท่านผู้มีพระคุณ  ผู้ปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบ  ดังนี้
    1.  การสร้าง  ปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์  วัดป่าภูก้อน  อำเภอนายูง   จังหวัดอุดรธานี
    2.  เจดีย์บรรจุอัธิธาตุ   หลวงปู่เต็ม  ขันติโก  วัดป่าโคกสาคร  อำเภอน้ำโสม  จังหวัดอุดรธานี
    3.  เขมปัตตเจดีย์  หลวงปู่หล้า  เขมปัตโต  เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หล้า  ณ  วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ)  อำเภอหนองสูง  จังหวัดมุกดาหาร  บูรพาจารย์ของทานพระอาจารย์
    4.  เจดีย์ศรีไตรรัตนานุสรณ์  คุณแม่ชีแก้ว   เสียงล้ำ  พิพิธภัณฑ์  อริยสาวิกา  ณ  สำนักแม่ชีแก้ว  อำเภอคำชะอี  จังหวัดมุกดาหาร
    และในปัจจุบัน  (2551)  ท่านได้ชักชวน  และร่วมกับศรัทธาพุทธบริษัท  พร้อมใจกันก่อสร้าง  จดีย์มหามงคลบัว  ณ  จังหวัดร้อยเอ็ด  เพื่อเป็นมงคลเจดียสถาน  อันเป็นอนุสรณ์รำลึกแสดงถึง  ความกตัญญูกตเวทิตาธรรม  ของเหล่าศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์  ถวายองค์หลวงตาพระมหาบัว  ญาณสัมปันโน  ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ  ที่องค์ท่านได้ประกอบกรณียกิจ  อันเป็นคุณทั้งน้อยใหญ่  สุดพรรณนา  เป็นคุณานุคุณอำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติ  พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์  เป็นอเนกอนันต์
    “อวิชชาตัวเดียวนี่  คว่ำลงจากจิตกระเทือนทั่วแดนโลกธาตุ  หลักธรรมชาติตัดสินเอง เป็นเองขึ้นมาเป็นลักษณะกลาง ๆ ขึ้นมา  ผางทีเดียว  เหมือนกับว่าโลกธาตุนี้คว่ำหมดเลย  พรึบทีเดียวหมดเลย  ทีนี้จ้าเลยที่นี้  อุ๋ย..อัศจรรย์จริง ๆ .....ธรรมอัศจรรย์เลิศเลอ”












วัดนาหลวง

วัดนาหลวง

วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม) หรือวัดภูย่าอู่ ตั้งอยู่ที่ บ้านนาหลวง หมู่ที่ 5 ตำบลคำด้วง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นวัดอบรมวิปัสสนากรรมฐานของจังหวัดอุดรธานีซึงหลังจากออกพรรษาแล้ว ก็จะมีหน่วยงานราฃการ องค์และกลุ่มต่างๆ รวมทั้งนักเรียนนิสิตนักศึกษา ที่สนใจในการปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐานเข้ามาขอเข้ารับการอบรม เพื่อเรียนรู้และเข้าถึงหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาตลอดจนการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสงบสว่างในจิตใจเกิดความสุขสงบ มีสติสัมปชัญญะซึ่งหลวงปู่พระราชสิทธาจารย์ประธานสงฆ์ ให้เมตตาต่อผู้เข้ารับการอบรมและฝึกปฏิบัติ มีพระครูภาวนาธรรมาภินันทเป็นเจ้าอาวาส  โดยมีพระราชสิทธาจารย์ (หลวงพ่อทองใบ ปภัสสโร) พระสุปฏิปันโนอีกรูปหนึ่งเป็นประธานสงฆ์ และตลอดเวลาที่ เข้ารับการอบรม จะมีพระครู และพระพี่เลี้ยงค่อยให้คำแนะนำและเอาใจใส่ด้วยความเมตตา ปัจจุบันมีภิกษุอยู่จำพรรษา 111 รูป เณร 1 รูป

ดูแผนที่เส้นทางไปวัด คลิ๊กที่นี่










การเดินทาง วัดนาหลวงอยู่ห่างจาก จังหวัดอุดรธานี 102กิโลเมตรระยะทาง จากอุดรธานีถึงอำเภอบ้านผือ 52กิโลเมตร จากอำเภอบ้านผือ ถึงตำบล คำด้วง 23 กิโลเมตรจากตำบลคำด้วง ถึง วัดนาหลวง 27 กิโลเมตร (เป็นทางลูกรัง และเป็นทางขึเนเนินเขาบางตอน) สามารถไปมาได้โดยสะดวก
กิจกรรมระหว่างเข้าพรรษา ทางวัดจะไม่รับจัดกิจกรรมอบรม เนื่องจากพระภิกษุ ต้องปฏิบัติภารกิจระหส่างจำพรรษา และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยตื่นทำวัดเช้า เวลา 04.00 น. และปฏิบัติกิจจน 06.00 น. และอาจมีการประขุม จากนั้นเตรียมตักบาตร เวลา 09.30น. เวลา 16.00 น. ลงทำวัดเย็น และปฏิบัติธรรม จนถึงเวลา 20.00 น. และช่วงเดือนสุดท้านก่อนออกพรรษา การปฏิบัติของพระภิกษุก็จะเข้มข่นขึ้น โดย จะเริ่มทำวัดเช้าเวลา 03.30 น. และทำวัดเย็ยก็จะเริ่มเวลาเดิม และสิ้นสุด เวลา 22.00น. รวมทั้งมีการจัดให้พระสงฆ์อยู่ปริวาสกรรมปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข่น ทำให้การปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ของวัดนาหลวงเป็นที่น่าเลื่อมใสและศรัทธาของประชาชนที่ได้พบเห็นและมีโอกาสได้เข้าไปทำบุญที่วัด
และทุกวันพระที่2 ของทุกเดือนหลวงปู่พระภาวงนาวิสุทธาจารย์ จะแสดงธรรมเทศสนาโปรดญาติโยม ที่เข้ามาทำบุญ และทุกวัน หลวงปู่จะเปิดโอกาสให้ญาติโยมไม่เข้าพบปะและสนทนาธรรม ระหว่างเวลา 12.00- 13.00 น ที่กุฎิประธานสงฆ์บริเวณ ลายไทรคู่ เป็นที่น่าเสียดาย ว่าไทรใหญ่ต้นหนื่ง ที่อยู่ด้านหน้าพระประธาน ได้หักล้มลง เมื่อคินวันที่ 25กันยายน 2549 จึงทำให้ในปัจจุบันคงเหลือต้นไทรในบริเวณลานไทรคู่เพียงต้นเดียว นี่เป็นสัจจะธรรม ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง หลวงปู่บอกว่าไทรต้นนี้อายุประมาณ 420 ปีในโอกาสนี้ก็ขอนำภาพบรรยาการในกิจกรรมต่างๆของทางวัดมานำเสนอให้ท่านเพื่อประกอบการพิจารณาเพื่อตั้ดสิ้นใจเข้าวัดทำบุญ ศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรม
 
  ความเป็นมาวัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)

    วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)  ตั้งอยู่บนยอดเขาภูย่าใกล้หมู่บ้านนาหลวง  อยู่ในเขตตำบลคำด้วง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  ห่างจากตัวอำเภอบ้านผือไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ  46  กิโลเมตร  ความเป็นมาเกี่ยวกับการตั้งวัดมีว่า  เมื่อปี พ.ศ. 2529  พระราชสิทธาจารย์  (หลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร)  เป็นพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้ปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์  มีความเข้าใจและซาบซึ้งในพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างยิ่ง  อยู่มาวันหนึ่งได้ทำความเพียรอย่างยอดยิ่งได้เข้าสมาบัติอยู่จนล่วงเข้า ปัจฉิมยาม (เวลาโดยประมาณ  03.00 น.) เมื่อออกจากสมาบัติได้นิมิตเห็นหมู่เทพธิดา 4 ตน  แต่งกายสวยงามสะอาดเรียบร้อยด้วยเสื้อสีขาว  ผ้าถุงสีน้ำเงิน  มือถือดอกฮวงสุ่ม (ดอกไม้ป่าเรียกชื่อและออกเสียงตามภาษาและสำเนียงท้องถิ่นอีสาน)  ในมโนทวาร  หลวงพ่อได้ทำความรู้สึกแผ่เมตตาสาราณียธาตุกว้างไกลโดยไม่มีประมาณ  หลังจากนั้นความรู้สึกกระแสจิตสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับเหล่าเทพธิดา ได้  และรับรู้ว่าเทพธิดาเหล่านั้นต้องการให้ท่านเดินทางไปบำเพ็ญเพียรสร้างพลัง ธรรมโปรดสรรพสัตว์ที่  ภูย่าอู่  ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกมีสัญลักษณ์สำคัญคือต้นไทรคู่  พระราชสิทธาจารย์  ตกลงใจว่าจะปฏิบัติตามคำขอร้องนั้นก่อนจากไปเทพธิดาตนหนึ่งได้กล่าวกับท่าน ว่า “จากนี้ไปอย่าไปเข้าถ้ำอีก”  พูดจบแล้วได้เอาดอกฮวงสุ่มปิดปากถ้ำไว้  ฝ่ายเทพธิดาตนที่เป็นหัวหน้าได้กล่าวกับท่าน  ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะว่า “จงไปโปรดสัตว์เถิด”
    ต่อมาหลวงพ่อ  จึงปรารถนาที่จะเผยแผ่ให้พุทธศาสนิกชนได้ซาบซึ้งในธรรมรสนั้น  ทั้งยังปรารถนาที่จะยังสันติธรรมให้เกิดมีแก่สังคมโลก  จึงออกแสวงหาที่สับปายะ  ในที่สุดได้ค้นพบภูย่าอู่  ต้นไทรคู่ตามนิมิต  ตรงจุดที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า “ถ้ำเกิ้ง”  อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำโสมนายูง  บ้านนาหลวง  ตำบลคำด้วง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  เมื่อพิจารณาสภาพทางภูมิศาสตร์เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมกับการที่จะบำเพ็ญ บารมีธรรมปฏิบัติธรรมให้เจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป  ทั้งยังเป็นสถานที่ที่เห็นเป็นชัยภูมิเหมาะที่จะก่อตั้งเป็นวัดถาวรต่อไปใน อนาคตจึงตัดสินใจเลือกสถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งวัดแต่นั้นมา
    ต่อมาเมื่อวันที่  9  มกราคม  2529  โดยการนำของหลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร  พร้อมด้วยพระภิกษุอีก  5  รูป  สามเณร  2  รูป  ได้เลือกปักกลดใต้ร่มไทรคู่บนภูย่าอู่  มีศรัทธาสาธุชนชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงพร้อมทั้งโยมอุปัฏฐากได้ร่วมแรงร่วม ใจกันสร้างกุฏิชั่วคราวขื้นเพื่ออำนวยความสะดวกตามอัตภาพ
    หลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร  เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย  มีจริยวัตรงดงามสม่ำเสมอเหมาะสมแก่สมณสารูป  มีความแน่วแน่มุ่งมั่นเสียสละเผยแผ่เมตตาธรรมต่อมหาชนไม่มีประมาณ   ทำให้มีศิษย์เลื่อมใสศรัทธาเพิ่มมากขื้นอย่างกว้างขวาง  บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมใจกันบริจาคทุนทรัพย์จัดสร้างเสนาสนะเครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็นภายในวัดขึ้น  แต่สถานภาพยังคงเป็นสำนักปฏิบัติธรรม  แม้กระนั้นในแต่ละปีมีพระภิกษุเข้าอยู่จำพรรษากว่าร้อยรูป  ซึ่งล้วนมีความเคร่งครัดพากเพียรทั้งด้านสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน  หลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร  ได้ตั้งชื่อสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ว่า  วัดอภิญญาเทสิตธรรม  และเนื่องจากตั้งอยู่บนภูย่าอู่คนทั่วไปจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  วัดภูย่าอู่  เป็นชื่อที่ผู้คนทั่วไปเรียกกันติดปากเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
    เมื่อวันที่  16  มิถุนายน  2543  กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศแต่งตั้งให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์ มีชื่อว่า “วัดนาหลวง”
    ปัจจุบันสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี  ได้ประกาศแต่งตั้งวัดนาหลวง  ให้เป็นสำนักวิปัสสนาธุระประจำจังหวัดอุดรธานี  โดยมีพระครูประภัสสรสุทธิคุณเป็นเจ้าสำนัก  ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมให้แก่พระสงฆ์  นักเรียน  นักศึกษา  และประชาชนในเขตจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงให้ได้รับประโยชน์ตน  ประโยชน์ผู้อื่น  และประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อเกื้อกูลการธำรงส่งเสริมสืบทอดคำสอนของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป  ประกาศ  ณ  วันที่  1  มกราคม  2544  เป็นต้นมา  ผลงานของวัดที่ดำเนินการมาได้สนองเจตนารมณ์ตามประกาศได้ผลเป็นอย่างดี  ทั้งนี้มีบุคคลสำคัญที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ  คือ  พระอธิการ  บุญทัน  อัคคธัมโม  ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส  พระมหาสำรี  ธัมมจาโร  เป็นรองเจ้าอาวาส  ภายใต้การอำนวยการเป็นประธานสงฆ์  คือ  พระราชสิทธาจารย์  หรืออดีตพระครูประภัสสรสุทธิคุณ
    วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)  ตั้งอยู่บนยอดเขาภูย่าอู่  ซึ่งเป็นภูเขาลูกหนึ่งในกลุ่มเทือกเขาภูพานอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำ โสมนายูง  อยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านผือไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ  46  กิโลเมตร  ห่างจากหมู่บ้านนาหลวงประมาณ  5  กิโลเมตร บริเวณที่ปลูกสร้างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในศาสนกิจและที่พำนักอาศัยของพระภิกษุสงฆ์  สามเณร  แม่ชี  ตลอดจนสถานที่ที่ใช้ในการอบรมพุทธศาสนิกชน  ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและต้องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานถือศีลบำเพ็ญ ภาวนามีประมาณ  15  ไร่  สำนักงานป่าไม้จังหวัดอุดรธานี  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ทางวัดช่วยดูแลป่าอุทยานแห่งชาติที่อยู่ ล้อมรอบมีเนื้อที่ทั้งหมดโดยประมาณ  25,000  ไร่  ทั้งนี้เพื่อเป็นการอาศัยบารมีหลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร  ประธานสงฆ์แห่งวัด  ช่วยป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำลำธารให้คง สภาพอุดมสมบูรณ์เสมอไป  ลักษณะของป่าไม้บนภูเขาแห่งนี้มีทั้งส่วนที่เป็นป่าเดิมและป่าใหม่ที่ปลูก ขึ้นทดแทนได้รับการดูแลรักษาอย่างดี  เป็นแบบอย่างในการรักษาระบบนิเวศสร้างความสมดุลให้ธรรมชาติ

อาณาเขตติดต่อของวัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)
ทิศเหนือ        ติดต่อกับ    บ้านตาดน้ำพุ    อำเภอบ้านผือ     จังหวัดอุดรธานี
ทิศใต้        ติดต่อกับ    บ้านสระคลอง    อำเภอบ้านผือ     จังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันตก    ติดต่อกับ    บ้านสว่างปากราง    อำเภอนายูง     จังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันออก    ติดต่อกับ    บ้านนาหลวง    อำเภอบ้านผือ     จังหวัดอุดรธานี
 
 
 
 
 ประวัติพระราชสิทธาจารย์ (หลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร)
ประธานสงฆ์วัดนาหลวง

    พระราชสิทธาจารย์ (หลวงพ่อทองใบ  ปภัสสโร)  ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่เป็นองค์ประธานสงฆ์ของวัดนาหลวง  ท่านเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งวัดเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าจนมีศิษยานุศิษย์มากมาย  มีความสามารถพิเศษในเชิงวาทศิลป์  การแสดงธรรมทุกครั้งจึงมีผู้เข้าร่วมรับฟังอย่างล้นหลาม  ด้วยนิสัยและบุคลิกลักษณะที่สมถะสันโดษต้องการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย   ไม่ปรารถนาตำแหน่งฐานะที่สำคัญใด  ๆ  ท่านจึงขอเป็นประธานสงฆ์คอยให้คำปรึกษาในการบริหารงานในวัด  ประวัติของท่านมีโดยสังเขปดังนี้
ชาติภูมิ  พระราชสิทธาจารย์ เกิดเมื่อวันที่  6  ตุลาคม  พ.ศ. 2479  เดิมชื่อ  ทองใบ  แน่นอุดร เป็นบุตรคนที่  5  ในจำนวน  8  คน ซึ่งเป็นชาย 6 คน หญิง 2 คน  ของนายบุญ  แน่นอุดร  มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านโนน  ตำบลป่าฝา  อำเภอจังหาร  จังหวัดร้อยเอ็ด  และนางศรี  ชินามน  มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านนามน  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์    เมื่อเยาว์วัยมีจิตใจใฝ่ในทางธรรมรบเร้าบิดามารดาว่าอยากไปอยู่วัดตั้งแต่ อายุ  4  ขวบ  แต่บิดามารดาเห็นว่ายังเด็กเกินไปจึงรอไว้ก่อน  จนอายุ  7  ขวบ เป็นเวลาที่ต้องเข้าเรียนหนังสือจึงได้ไปอยู่วัดพร้อมกับเรียนหนังสือจนจบ การศึกษาภาคบังคับคือชั้นประถมศึกษาปีที่  4
    บรรพชาอุปสมบท  ในปี พ.ศ. 2499  ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดนามน  บ้านนามน อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์  ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโยมมารดา  ชีวิตการเป็นพระภิกษุท่านได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรม  ตรี  โท  เอก  จากสำนักเรียนวัดสะแคนนามน  กิ่งอำเภอนามน  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์  ประสบการณ์ที่ท่านได้มีโอกาสพบเห็นคนมากมายหลากหลาย  ทำให้ท่านคิดว่าจะต้องนำความรู้ที่ได้ศึกษาพัฒนาตนเอง  และช่วยเหลือผู้อื่น  ท่านเป็นคนที่มีความขยันหมั่นเพียรจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครู ประภัสสรสุทธิคุณในปี พ.ศ. 2515  เป็นพระภาวนาวิสุทธาจารย์  ในปี  พ.ศ. 2546  เป็นพระราชสิทธาจารย์  ในปี  พ.ศ. 2552 มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ดังนี้
    พ.ศ. 2515    เป็นเจ้าอาวาสวัดสุขวนาราม  ตำบลคำบง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี
    พ.ศ. 2515    เป็นเจ้าคณะตำบลคำบง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี
    พ.ศ. 2518    เป็นรองเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ
    พ.ศ. 2519    เป็นพระอุปัชฌาย์
    พ.ศ. 2524    เป็นรองเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ  รูปที่  1

    ในด้านการศึกษาปฏิบัติธรรมของท่านนั้น  ท่านแสวงหาและศึกษาอบรมจากพระอริยสงฆ์หลายท่าน ดังนี้
    พ.ศ. 2508    อยู่กับหลวงปู่แหวน  สุจิณโณ และหลวงปู่เทสก์  เทสรังสี
    พ.ศ. 2509    อยู่กับหลวงปู่ขาว  อนาลโย, หลวงปู่เพชร
    พ.ศ. 2510    อยู่กับหลวงปู่ชา  สุภัทโท
    พ.ศ. 2511    อยู่กับหลวงปู่ฟั่น  อาจาโร (รอบสอง)
    พ.ศ. 2512    อยู่กับหลวงปู่สด
    พ.ศ. 2513    อยู่กับหลวงปู่ดูลย์  อตุโล, หลวงปู่หล้า
    พ.ศ. 2514    อยู่กับท่านพุทธทาส (รอบสอง)
    พ.ศ. 2515    อยู่กับหลวงพ่อปัญญา  วัดชลประทาน, หลวงปู่อาจ  จังหวัดชลบุรี, หลวงปู่อาจ  วัดมหาธาตุ และวัดเพลงวิปัสสนา
    พ.ศ. 2516 – 2517   ท่านได้อยู่ปฏิบัติกรรมฐานในถ้ำโพธิสัตว์  จังหวัดสระบุรี

    หลังจากนั้น  ท่านได้ออกธุดงค์ทั่วไทย  และยังไปถึงประเทศใกล้เคียงคือ ลาว เขมร พม่า และมาเลเซีย
    ในปี พ.ศ. 2519-2530  ท่านได้สมาทานเข้าห้องบำเพ็ญภาวนา  ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างอุกฤษฎ์ในอิริยาบถ  3  คือ  ยืน  เดิน  นั่ง  ที่วัดไทยทรงธรรม  บ้านคำบง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  การปฏิบัติวิปัสสนาในห้องกรรมฐานนี้  จะสลับกับการออกธุดงค์  ดังนี้
        อยู่ในห้องกรรมฐาน    7  เดือน  ออกธุดงค์  5  เดือน
        อยู่ในห้องกรรมฐาน    9  เดือน  ออกธุดงค์  3  เดือน
        อยู่ในห้องกรรมฐาน  11  เดือน  ออกธุดงค์  1  เดือน
    พ.ศ. 2529    บำเพ็ญภาวนาอยู่ที่  อำเภอภูหลวง
    พ.ศ. 2530    บำเพ็ญภาวนา  อยู่ที่  ถ้ำผาป่าไร่ (ถ้ำพญานาค)  อำเภอน้ำหนาว    จังหวัดเพชรบูรณ์
    เมื่อครบ  12  ปีแล้ว  ท่านจึงออกเผยแพร่ธรรมเป็นเวลา  10  ปี (2533-2543)  มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)
    ในปี พ.ศ. 2519  ท่านได้ตั้งสัจจะบารมีว่าจะถืออิริยาบถ  3  คือ ยืน เดิน นั่ง  งดอิริยาบถนอนเป็นเวลา  30  ปี  และท่านได้ถือปฏิบัติมาตลอดจนกระทั่งถึงปี  พ.ศ. 2544  ท่านจำเป็นต้องนอน  ทั้งนี้เพราะอาพาธต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยโรคกระดูกสันหลังทับ เส้นประสาท
ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  สาเหตุการอาพาธครั้งนี้สันนิษฐานว่าท่าน
กรำงานหนักเกินไป
    ในปี พ.ศ. 2533  ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ  แล้วเริ่มออกทำงานด้านการเผยแผ่พุทธธรรม  โดยนำพระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษยานุศิษย์ภายในวัดออกเผยแผ่ปีละ  5  เดือนเป็นระยะเวลา  10  ปี  เริ่มจาก พ.ศ. 2533  จนถึง  ปี  พ.ศ. 2542
    ในปี พ.ศ. 2543  ท่านได้ตั้งสัจจบารมีว่าจะไม่รับกิจนิมนต์ใดเพื่อทำพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นเวลา 13 ปี  จนถึง พ.ศ. 2555  ทั้งนี้  เพื่อจะเป็นการทำกิจในการอบรมและสั่งสอนพระภิกษุสามเณรในวัดและประชาชนทุก หมู่เหล่าที่จะเข้ามาอบรมวิปัสสนากรรมฐานและฟังพระธรรมเทศนา ณ วัดนาหลวง อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์
    การศึกษา พระราชสิทธาจารย์ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกตามระเบียบการศึกษาภาค บังคับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2484  หลังจากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือใบลานหลักสูตร อักขระ  สันยะโต  (มูลกระจายน์)  จำนวน 7 ผูก  คือ สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ  จนสำเร็จ  ทำให้ ท่านแตกฉานในด้านอักษรศาสตร์  แม้กระนั้นท่านก็มิได้หยุดนิ่ง  ได้ขวนขวายเล่าเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณ  มีความสามารถในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  มีความขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอ  ปัจจุบันท่านได้ฟื้นฟูความรู้เรื่องพืชสมุนไพร  โดยให้บรรดาลูกศิษย์ คณะญาติโยมสร้างสวนสมุนไพรขึ้น
    ผลงานหนังสือ  พระราชสิทธาจารย์นอกจากจะเผยแผ่ธรรมด้วยมุขปาฐะแล้วยังได้เรียบเรียงคำ สอนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้หลายเล่ม  เช่น  ธรรมธารา  เล่ม  1-2  และ ขันธ์  5  คือกองทุกข์  ละขันธ์  5  ละกองทุกข์  ในชุดเดียวกัน  พ้นภัยด้วยธรรม  มาตา ปิตุธรรม ธัมโม วิภาโค ฯลฯ
เป็นต้น  นอกจากนั้น  หนังสือ  และเอกสารคำสอนต่าง ๆ  ซึ่งเปรียบเสมือนมรดกธรรมของท่านได้ถูกลูกศิษย์ลูกหา  รวบรวม  จัดทำเป็นรูปเล่ม  ต่างกรรม  ต่างวาระกัน  ดังจะเห็นได้มากขึ้นในปัจจุบัน  รวมทั้งมีการนำสื่อสมัยใหม่มาใช้  เพื่อช่วยเก็บหลักฐาน  สะสมความรู้  และเรียบเรียงให้อยู่ในรูปแบบ  วีซีดี  ดีวีดี  เทป  และแม้กระทั่ง  อยู่ในรูปแบบ  MP 3
    ปัจจุบันพระราชสิทธาจารย์ ยังคงมุ่งมั่นเผยแผ่ธรรมให้กับพุทธศาสนิกชน อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะโครงการแสดงธรรมทุกวันเสาร์ที่  2  ของเดือน  เป็นกิจกรรมสำคัญที่พระราชสิทธาจารย์เปิดโอภาสให้มีการปุจฉา  วิสัชนา  ด้วยคุณงามความดีที่ท่านได้สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน  สมควรที่จะได้รับการยกย่องสรรเสริญจากมหาชนทั้งหลายว่าเป็นพระอริยสงฆ์เป็น “ปูชนียบุคคลบนภูย่าอู่”  โดยแท้


รู้มีอำนาจ  ฉลาดมีเดช
    คำว่ารู้มี  2  อย่าง  1.  รู้เขา  2.  รู้เรา  การรู้เขา  จริงเท็จก็รู้ง่าย  ไม่ว่ากายใจอะไรก็ตามทีแต่การรู้เฉพาะเราไม่ว่าเท็จจริง  ก็ต้องยากยิ่งแน่แท้  โดยสิ่งเปิดเผยก็คือ  ถือตนจนมัว  ถือตัวจนมืดนี้  เป็นข้อเท็จจริงในการรู้เรา  คนยาก  พึงทราบของปกปิดกายจิตใจเจ้าของ  ดังนี้
1.  สติรู้ไม่ทันลมหายใจเข้าออก
2.  สติรู้ตามอิริยาบถ 4  ไม่ทัน
3.  สติสัมปชัญญะอ่อนแอ
4.  ไม่รู้แท้ว่าธาตุ  4  แค่รูป
5.  หลงใหลอาการ  32
6.  ลืมร่างโครงสร้างกองกระดูกว่า  เป็นเรา  จากนั้นเลยติดเวทนา  วิ่งตามจิต  หลงเสพพิษ

ธรรม  กายใจเลยเซถลาลงสู่ทางต่ำดำนั่นคือ  มานะ  มิจฉา  มาร  ครอบงำ  บดบังตัวเรา  จึงเป็นเงาอันรู้ยาก  มนุษย์จึงลำบากต่อการปกครองดำเนินชีวิตไป  อย่างรู้เรา  ราบรื่นตื่นอยู่อย่างสำราญเบิกบานอย่างสดใสเรารู้เรา  หมดเมา  หายมืด  จืดจากอวิชชา


พระครูภาวนาธรรมาภินันท์
เจ้าอาวาสวัดนาหลวง
 
ชาติภูมิ           
พระ ครูภาวนาธรรมาภินันท์  เกิดที่บ้านปลาเดิด  ตำบลระเวียง  อำเภอรัตนบุรี  จังหวัดสุรินทร์  เกิดเมื่อวันที่  1  กรกฎาคม  พ.ศ. 2506 เป็นบุตรคนสุดท้องของนายบุตรดี  และนางทอง  สีสุข  โดยมีนามเดิมว่าบุญทัน  สีสุข

บรรพชาอุปสมบท   
    เมื่อ  11  พฤษภาคม  พ.ศ. 2527  ได้อุปสมบทและจำพรรษาที่วัดอีสาน  บ้านโนนสั้น  ตำบลหนองหลวง  อำเภอรัตนบุรี  จังหวัดสุรินทร์  โดยมีพระรัตโนภาสวิมล  เป็นพระอุปัชฌาย์  มีฉายาว่าพระบุญทัน  อัคคธัมโม
    พ.ศ. 2528  จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสามัคคีธรรม  จังหวัดลพบุรี
    พ.ศ. 2529 – 2531  จำพรรษาอยู่ที่วัดอู่ทอง  อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี       
    พ.ศ.2539 – ปัจจุบัน  จำพรรษาที่วัดนาหลวง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี 
การศึกษา  ทางโลก  จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
     ทางธรรม  นักธรรมเอก  เปรียญธรรมประโยค  1-2

ตำแหน่งหน้าที่       
เมื่อ วันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ.  2536  ได้รับมอบหมายจากท่าน  พระครูประภัสสรสุทธิคุณ  (ขณะนั้น)  ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนาหลวง  และเมื่อสำนักสงฆ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นวัดอย่างเป็นทางการแล้วจึงได้รับ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนาหลวงอย่างเป็นทางการ   
พ.ศ. 2547  ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรพัดยศ  ชั้นโท  ฝ่ายวิปัสสนาธุระมีทินนามว่า  พระครูภาวนาธรรมาภินันท์  เมื่อวันที่  8  มกราคม  2547
พ.ศ. 2549  ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ  ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลกลางใหญ่  ทำหน้าที่ดูแล  ปกครองคณะสงฆ์ในเขตตำบล  เมื่อวันที่  27  พฤศจิกายน  2549